HoonSmart.com>>”เวฟ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์-WAVE ” ส่งบริษัทลูก” เวฟ บีซีจี” ผนึกกำลัง “เอ็มวิชั่น-MVP” ผลักดันการจัดงานใหญ่ในไทย สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Event) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร ช่วยขับเคลื่อนประเทศลดก๊าซเรือนกระจก งานแรก Mobile Expo 2023 เริ่ม 16-19 ก.พ.นี้ ณ ศูนย์สิริกิติ์ คาดเกิดคาร์บอนเครดิต 1,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ ปี ด้าน” เอ็มวิชั่น” ตั้งเป้าความต้องการปีละ 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า WAVE คาดรายได้ปี 66 ประมาณ 800 ล้านบาท พุ่งขึ้นจากก่อน เริ่มมีรายได้ธุรกิจคาร์บอนเครดิต 200 ล้าน
นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ( WAVE) เปิดเผยว่า บริษัทลูกของ WAVE คือบริษัท เวฟ บีซีจี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตครบวงจร ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท เอ็มวิชั่น (MVP) เพื่อให้การจัดงาน ( Event) ในประเทศ ให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) โดยเริ่มจากการจัดงาน Mobile Expo 2023 ดำเนินการโดย MVP ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
” Mobile Expo 2023 จะเป็นงาน Expo แรกในไทยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน และยังมีความมุ่งมั่นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน ในการจัดงานต่างๆ ในอนาคต ทั้งกลุ่มงานแสดงสินค้าต่างๆ งาน Expo แม้กระทั่งงานคอนเสิร์ต ที่เราจะช่วยให้คำแนะนำการจัดงานให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงการจัดหาคาร์บอนเครดิต สำหรับการ Offset เพื่อให้ผู้จัดงานบรรลุเป้าหมายของการเป็น Carbon Neutral Event สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ในการลดก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังพร้อมสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรม MICE ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ทำให้มีการปล่อยคาร์บอนจากการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ไม่ควรมองข้าม”นายเจมส์กล่าว
แนวโน้มความต้องการคาร์บอนเครดิตมีอยู่สูงมาก มีบริษัทขนาดใหญ่ชั้นนำ ใน SET 50 ติดต่อขอทำสัญญากับบริษัทผูกสัญญาไว้นาน ถ้าไม่ซื้อล็อกไว้ อาจจะไม่มีในอนาคต เนื่องจากมีความยากในการหาคาร์บอนเครดิต รวมถึงการเก็บรักษา บริษัทจึงเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้เพื่อกาารค้าขายชดเชยบนเวทีโลกจริงๆ ไม่สนใจคนซื้อเพื่อเก็งกำไร ปัจจุบันบริษัทฯมีคาร์บอนเครดิต 330 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ ปี ทั้งที่ซื้อจากในประเทศ และต่างประเทศ เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ มีการซื้อล่วงหน้าด้วยเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะเพียงพอ และตั้งเป้าจะถือครองสูงเป็นอันดับ 3 ในปีนี้
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานของ WAVE ในปี 2566 นายเจมส์ คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 800 ล้านบาทบวกลบ ถือว่าเติบโตขึ้นมากจากปี 2565 เนื่องจากปีนี้จะเป็นปีแรกที่มีรายได้จากให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตครบวงจร นอกจากนี้ ธุรกิจบันเทิงยังคงมีรายได้ที่ดีประมาณ 550 ล้านบาท และธุรกิจสถาบันสอนภาษาวอลล์สตรีทอิงลิช (Wall Street English) สร้างรายได้ให้ประมาณ 150 ล้านบาท
สำหรับความร่วมมือดังกล่าว จะอยู่ภายใต้หลักการคำนวณและประเมินอ้างอิงตามหลักการขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.และตรวจสอบโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รัตนโกสินทร์ หน่วยงานในกำกับของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (มทร.) ซึ่งมีการจัดทำยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยคาร์บอนนิวทรัล หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 และมีเป้าหมายหลักในการผลิตบัณฑิตด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ให้มีองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อผลิตบุคลากรที่มีองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมและงานวิจัยที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้บริษัทเวฟ บีซีจี ร่วมมือ MVP และ Giant Causeway จากสิงคโปร์ เพื่อพัฒนานวัตกรรม Climate Tech Project (CTP) ที่เรียกว่า ‘Carbon Mapping Platform’ โดยใช้เทคโนโลยีของ Web 3.0 เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความโปร่งใส่ ตรวจสอบได้ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ตรวจ เพื่อตรวจสอบพื้นที่ในการปลูกป่าและการเกษตร โดยเทคโนโลยีสามารถตรวจสอบและติดตามพื้นที่ป่าไม้และการเกษตรย้อนหลัง 5 ปี ประเมินสภาพในปัจจุบัน และประมาณการพื้นที่ในอนาคต ช่วยธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในการจัดที่เป็นแปลงได้รวดเร็ว
ด้านนายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มวิชั่น (MVP) ผู้นำธุรกิจการจัดงานอีเว้นท์ ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เช่น Thailand Mobile Expo และ Thailand Crypto Expo 2022 เป็นต้นกล่าวว่า การจัดงาน Mobile Expo 2023 คาดว่าจะมีคนเข้ามาร่วมงานประมาณ 4-5 แสนคน มีความต้องการใช้คาร์บอนเครดิต 1,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ ปี รวมทั้งปีตั้งเป้าเกือบ 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ขณะที่นายเกียรติชาย ไมตรีวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า อบก. ได้ให้การการสนับสนุนการจัดอีเว้นท์ในครั้งนี้ ให้มีการดำเนินการในรูปแบบที่เป็น Carbon Neutral Event โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์มการคำนวณขึ้นใหม่ มุ่งเน้นให้ใช้งานได้ง่าย แยกตามประเภทของ MICE คือ1. การจัดประชุม-อบรม-สัมมนา 2. การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล 3. นิทรรศการ-แสดงสินค้า 4. งานเทศกาล 5. การแข่งขันกีฬาและ 6. การเดินทางท่องเที่ยวของบุคคล
ปัจจุบัน อบก. ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ TCEB ในการนำแพลตฟอร์มดังกล่าว ไปทดลองใช้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม MICE
งาน Mobile Expo 2023 มีความเป็นกลางทางคาร์บอนจะดึงดูดให้คนเข้ามาร่วมงานมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในต่างประเทศมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานต่างๆ ให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอนมากขึ้นทั้งผู้จัดจากต่างประเทศ งานเทศกาลดนตรี งานคอนเสิร์ต ก็เริ่มมีมาตรการให้ผู้เข้าร่วมงานปฏิบัติตาม อีกทั้งศิลปินบางวงยังมีการเลือกงานที่จะไปทำการแสดง ที่ต้องเป็นงานจัดในรูปแบบของ Carbon Neutral เท่านั้น
“จัดงานสามารถเดินสู่เป้าหมายความเป็นการทางคาร์บอนได้ เพราะเป็นแหล่งที่คนเดินทางมาชมงานเลือกซื้อสินค้าที่งานเดียวได้ครบครัน ลดการใช้พลังงานที่ต่างคนต่างไปเลือกซื้อสินค้าในที่ต่างๆ แต่การจัดงานก่อให้เกิดการใช้พลังงานสูง ทางผู้จัดก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ หรือที่เรียกว่า Carbon Neutral แต่ต้องมีการเก็บข้อมูลของคาร์บอนเครดิต เพราะหากไปซื้อของที่เก็บไว้นาน เก่าเกินไป ราคาถูก แต่อาจจะมาใช้ไม่ได้ ทั้งนี้จะมีการกำหนดอายุการจัดเก็บ เช่น 7 ปี เพื่อให้เป็นมาตรฐาน และอบก.จะสร้างตลาดกลาง แลกเปลี่ยน ซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต เพื่อให้มีราคากลาง ทั้งนี้ราคาจะปรับขึ้นหรือลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากดีมานด์และซัพพลาย “นายเกียรติชายกล่าว