โบรกฯ ชี้รัฐไม่ต่อภาษี LTF กดหุ้นไทยขึ้นยาก-แรงซื้อหาย

บล.เอเซียพลัส ประเมินรัฐไม่ต่อภาษีกองทุน LTF กดดันหุ้นไทยขึ้นยาก แรงซื้อสถาบันหายเกือบครึ่ง ชี้ 5 ปีที่ผ่านมาสถาบันซื้อ 3.81 แสนล้านบาท เป็นเงิน LTF กว่า 1.76 แสนล้านบาท ช่วยขับเคลื่อนตลาดช่วงต่างชาติไม่เข้าลงทุน “ดีบีเอสฯ” มองหมดแรงซื้อ LTF ช่วยพยุงตลาด เชื่อนักลงทุนทยอยขาย

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ออกบทวิเคราะห์ประเมินกรณีทางการไม่ต่ออายุการลดหย่อนภาษีให้กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เชื่อว่า จะกดดันแรงซื้อในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนสถาบันให้หายไปเกือบครึ่งหนึ่ง และจะทำให้ SET Index ปรับขึ้นได้ยาก ทั้งนี้ยังต้องรอดูแนวทางที่จะเข้ามาช่วยลดผลกระทบ โดยอาจมีได้หลายแนวทาง เช่น การออกกองทุนประเภทใหม่มาทดแทน LTF, การดูแลกองทุน LTF เดิมที่จะกลายเป็นกองทุนเปิดกองทุนหุ้น (Equity Fund) หลังปี 2562 รวมถึงอาจได้เห็นการยืดเวลาการให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับ LTF ต่อไปก็เป็นได้

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงแรงกว่า 40 จุดตามต่างประเทศแล้ว ยังมีปัจจัยภายในประเทศเข้ามาผสมโรง คือ กระแสข่าวอาจไม่ต่ออายุการลดหย่อนภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)

บล.เอซียพลัส มองว่า ในภาวะที่กระแส Fund Flow ยังไม่ไหลเข้า พบว่า SET Index ช่วงนี้ ถูกขับเคลื่อนด้วยแรงซื้อจากเม็ดเงินในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน สะท้อนได้จากค่า correlation ระหว่าง SET Index กับแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนสถาบัน ช่วงเดือนต.ค.2559 – เดือนก.ย.2561 สูงถึง 0.77

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า แรงซื้อจากนักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนในประเทศ ส่วนหนึ่งมาจาก LTF ซึ่งแรงจูงใจหลักของกองทุน LTF ก็คือการได้ลดหย่อนภาษี ดังนั้นหากไม่ต่ออายุลดหย่อนภาษีให้ LTF ก็ค่อนข้างมีผลต่อเม็ดเงินลงทุนมากพอสมควร

นอกจากนี้หากไปดูตัวเลข นับตั้งแต่ต้นปีมา พบว่า นักลงทุนสถาบันซื้อหุ้นไทยแล้วกว่า 1.36 แสนล้านบาท และถ้าดูย้อนหลังไปอีก ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน คือ ราวเกือบ 5 ปี มียอดซื้อสุทธิแล้วถึง 3.81 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเม็ดเงินจาก LTF กว่า 1.76 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 46% ของยอดซื้อสุทธิทั้งหมด

ข้อมูลล่าสุดในเดือนก.ย.2561 มีกองทุน LTF ทั้งหมด 89 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์รวมสูงถึง 3.9 แสนล้านบาท จึงปฎิเสธไม่ได้เลยว่า LTF เป็นเม็ดเงินหลักในการซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนสถาบันในประเทศ
บล.

ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ประเมินว่า หากมีการยกเลิกโครงการ LTF จริง คาดว่าผู้ลงทุนจะมีแรงทยอยขายกองทุน LTF ที่สามารถขายได้เมื่อครบกำหนดการถือครองออกมา โดยมูลค่าการขายแต่ละปีขึ้นกับภาวะตลาดหุ้นเป็นสำคัญ ณ สิ้นก.ย.61 ขณะที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนระบุว่าตัวเลข LTF ในระบบมีทั้งสิ้น 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นถ้าไม่มีกองทุนประเภทอื่นที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีเข้ามาทดแทน LTF ก็อาจทำให้มูลค่าเงินลงทุนในกองทุนลดลง

นอกจากนั้น การยกเลิก LTF ก็อาจทำให้แรงซื้อในช่วงที่ตลาดหุ้นร่วงแรงมีน้อยลง เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าแรงซื้อ LTF เป็นตัวช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยไว้ในระดับหนึ่ง

ปัจจุบันทางก.ล.ต.ได้ผลักดันโครงการ 5 ขั้นมั่นใจลงทุน และธนาคารพาณิชย์ & บริษัทหลักทรัพย์ & บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม & บริษัทประกัน ได้เข้าร่วมโครงการ ซึ่ง 5 ขั้นมั่นใจลงทุนเป็นกองทุนที่ช่วยบริหารจัดการพอร์ตลงทุน (Asset Allocation) ให้กับผู้ลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ลงทุนแต่ละคน สำหรับสินทรัพย์ที่ลงทุนได้ตามระดับความเสี่ยง ได้แก่ กองทุน Money Market, กองทุนตราสารหนี้, กองทุนผสม, กองทุนตราสารทุน, กองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เป็นต้น ซึ่งโครงการนี้เน้นไปยังผู้ลงทุนทุกประเภท ทั้งผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง-สูง แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงการลงทุนในกองทุน RMF และ LTF

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส เห็นว่าทางเลือกหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดการออมเพื่อความมั่นคงและรองรับสังคมสูงอายุของประชาชน คือ การกำหนดเงื่อนไขให้สามารถนำเงินลงทุนในโครงการ 5 ขั้นมั่นใจลงทุนไปใช้ในการลดหย่อนภาษีแทน LTF ที่จะหมดอายุ

ทั้งนี้ทาง บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ได้เข้าร่วมโครงการ 5 ขั้นมั่นใจลงทุน และเปิดให้บริการภายใต้ชื่อ “Wealth Box” ซึ่งเรากำหนดการลงทุนขั้นต่ำไว้ที่ 20,000 บาท และสามารถทยอยลงทุนรายเดือน (DCA) ได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนวางแผนทางการเงินระยะยาวและมีความมั่นคงในช่วงสูงอายุ