ธนาคารกสิกรไทย เปิดตัว K PLUS เวอร์ชั่นใหม่ ใช้ AI เรียนรู้พฤติกรรมตอบโจทย์ลูกค้ารายบุคคล พร้อมเชื่อมต่อพันธมิตรทั่วโลก ตั้งเป้า 5 ปีมีผู้ใช้ 100 ล้านราย
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารพัฒนาแพลทฟอร์ม K PLUS ใหม่ โดยปรับโลโก้ รูปแบบการใช้งานเพื่อให้ใช้งานง่ายขึ้น และเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละคน โดยนำข้อมูล (Big Data) มาวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า ทำให้นำเสนอบริการที่ตรงกับความต้องการลูกค้าได้มากขึ้น
“10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารมีฐานลูกค้าใหม่เฉลี่ยปีละกว่า 1 ล้านบัญชี ปัจจุบันธนาคารมีจำนวนบัญชีลูกค้ารวม 15 ล้านบัญชี แต่หลังจากนี้เชื่อว่าฐานลูกค้าใหม่ของธนาคารให้เพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านบัญชี และทำให้ธนาคารมีลูกค้าเพิ่มเป็น 20 ล้านบัญชี ภายใน 3 ปี” นายพัชร กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายเพิ่มการใช้งานด้านไลฟ์สไตล์ใน K PLUS ใหม่เป็น 5-10% ภายใน 1 ปี จากปัจจุบันที่ฟังก์ชันไลฟ์สไตล์มีปริมาณการทำธุรกรรมเพียง 5 แสนรายการต่อเดือน หรือน้อยกว่า 1% ของรายการโอนเติมจ่าย ที่มีอยู่ 125 ล้านรายการต่อเดือน
“K PLUS ยังเป็นช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงบริการผลิตภัณฑ์ด้านการเงินของธนาคารได้ง่ายและสะดวกขึ้น เช่น การถอนเงินโดยไม่ใช่บัตร ซื้อกองทุน โดยเฉพาะบริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนขนาดเล็ก (Micro Finance) ให้กับลูกค้าทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อย มีส่วนผลักดันให้ภาพรวมยอดสินเชื่อคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลสะสมเติบโตกว่า 4%” นายพัชร กล่าว
นายพัชร กล่าวอีกว่า 8 เดือนแรกของปีธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 1.63 หมื่นล้านบาท เทียบกับปลายปีก่อนที่มีมูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลคงค้างที่ 1.57 หมื่นล้านบาท และปีนี้ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท หรือรวมเป็น 2.27 หมื่นล้านบาท
นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนา K PLUS ขยายจากการเป็นแอปมาสู่ “K PLUS Intelligence Platform” ที่นำเสนอประสบการณ์ที่ตรงใจกับลูกค้าเป็นรายบุคคล พร้อมทั้งรองรับการเติบโตในอนาคต ทั้งความเสถียร ความปลอดภัย และความง่ายในประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า รวมถึงการขยายเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจต่างๆ
หัวใจสำคัญในพัฒนาศักยภาพของ K PLUS คือ “เกด” (KADE: K PLUS AI-Driven Experience) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เป็นระบบหลังบ้าน โดย KADE จะเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคนเพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่ตรงใจกับลูกค้าเป็นรายคนได้ เช่น แจ้งเตือนธุรกรรมการเงินที่ใช้เป็นประจำ แนะนำผลิตภัณฑ์หรือโปรโมชั่นที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ และนำเสนอสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อธุรกิจ ที่เหมาะสมกับความสามารถในการกู้และตรงกับความต้องการ
“ภายในกลางปี 2562 จะสามารถแนะนำการใช้จ่ายและการลงทุน (Robo Advisor) รายบุคคล รวมถึงการชำระเงินใน K+ shop ด้วยระบบการจดจำใบหน้า (Facial recognition) และทำธุรกรรมทางการเงินได้ด้วยการสั่งงานด้วยเสียง (Voice Command) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบ” นายสมคิด กล่าว
นอกจากนี้ K PLUS ยังมีโครงสร้างเทคโนโลยี “โอเพ่น แพลทฟอร์ม” (Open Platform) พร้อมรองรับการเชื่อมต่อกับช่องทางบริการและพันธมิตรในธุรกิจต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อต่อยอดบริการใหม่ๆ ทั้งที่เป็นบริการทางการเงินและไลฟ์สไตล์
“เป้าหมายการพัฒนา K PLUS คือ ทำให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องง่ายๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ ‘รู้จักจนรู้ใจ’ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกคนมากที่สุด ศักยภาพของ K PLUS ในอนาคต จะทำให้คนที่ไม่มีบัญชีธนาคารสามารถทำธุรกรรมได้ เกิดธุรกรรมการเงินข้ามประเทศ ทำให้เราตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 5 ปีจะมีผู้ใช้ K PLUS ถึง 100 ล้านคนทั่วโลก ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียมกันและมีชีวิตที่ดีขึ้น” นายสมคิด กล่าว