TBN ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 25 ล้านหุ้น เข้าตลาด mai ขยายธุรกิจดิจิทัล

HoonSmart.com>>“ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น” หรือ TBN” ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอ 25 ล้านหุ้น เข้าระดมทุนตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ นำเงินขยายธุรกิจ เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน  ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการพัฒนาระบบดิจิทัล เพื่อรองรับ Digital Transformation ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น หรือ TBN เปิดเผยว่า บริษัท ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 25 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท  เพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีบริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

การระดมทุนครั้งนี้จะนำไปใช้รองรับการเติบโตของ TBN รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ใช้ขยายธุรกิจเพื่อรองรับ Digital Transformation ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ใช้ในการเพิ่มจำนวนบุคลากร การพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับจำนวนโครงการและจำนวนบุคลากรที่เพิ่มมากขึ้น และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น ดำเนินธุรกิจให้บริการออกแบบ และพัฒนาระบบดิจิทัลแบบครบวงจร บริษัทเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และพัฒนาโซลูชั่นตามความต้องการของลูกค้าโดยใช้ซอฟต์แวร์ Low-Code Development Platform (Low Code) ของ MENDIX ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้การพัฒนาแอปพลิเคชัน หรืองานดิจิทัลโซลูชั่นได้รวดเร็วกว่าการพัฒนาแบบดั้งเดิม (High Code)

ปัจจุบันบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ MENDIX ของ Siemens รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย พร้อมด้วยประสบการณ์และทีมงานผู้เชี่ยวชาญในด้านการให้บริการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์มากว่า 15 ปี

การให้บริการของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. งานพัฒนาระบบและงานบริการเกี่ยวเนื่องแบบครบวงจร ได้แก่ งานพัฒนาระบบดิจิทัล (Digital Solution Services) งานสนับสนุนและบำรุงรักษาระบบ (Technical Support and Maintenance) และงานให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อยอดจากที่ได้พัฒนาและติดตั้งลงบนระบบของลูกค้า (Technical Consultancy Services)
  2. งานสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ได้แก่ การให้ใช้สิทธิ์โปรแกรม MENDIX (MENDIX License) และการให้บริการคลาวด์ (Cloud Services) โดยให้บริการให้เช่าพื้นที่บนคลาวด์จากผู้ให้บริการคลาวด์

นอกจากนี้ TBN ยังมีบริษัท บ๊อพ จำกัด (BOP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจให้บริการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิม (High Code) เน้นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการระบบซอฟต์แวร์ที่ต้องการการปรับแต่งที่สูงขึ้น การให้บริการทั้ง Low Code และ High Code เป็นกลยุทธ์ของบริษัท ทำให้สามารถนำเสนองานได้ยืดหยุ่น หลากหลายตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในการพัฒนาแอปพลิเคชัน ทั้งในแง่ ความเร็วในการพัฒนา งบประมาณ และการปรับแต่งให้ครอบคลุมตามความต้องการ

TBN มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาและให้บริการด้าน Digital Solutions แบบครบวงจร (One Stop Service) ที่ได้รับการยอมรับสูงสุดในเอเชีย และมีเป้าหมายในการขยายตลาดการให้บริการการพัฒนาแอปพลิเคชันของบริษัทฯ และขยายขอบเขตการขายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ (License) ไปสู่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมหลากหลายในภูมิภาคเอเชีย

นางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของ TBN กล่าวถึงภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 62 – 64) บริษัทมีรายได้จากการให้บริการ 130.38 ล้านบาท 215.73 ล้านบาท และ 291.19 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีอัตราการเติบโต 65.47% และ 34.98% ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 45.44 ล้านบาท 87.61 ล้านบาท และ 84.04 ล้านบาท ตามลำดับ มีอัตรากำไรสุทธิ 34.85% , 40.61% และ 28.86% ตามลำดับ

สำหรับงวด 9 เดือนแรกปี 64 และปี 65 มีรายได้ 198.12 ล้านบาท และ 243.96 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 58.70 ล้านบาท และ 26.52 ล้านบาทตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 29.63% และ 10.87% ตามลำดับ

“รายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นเนื่องจากลูกค้าองค์กรให้ความสำคัญด้าน Digital Transformation โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบขององค์กรอย่างมีกลยุทธ์ มีการลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในทุกภาคส่วนขององค์กรมากขึ้นทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน การพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้บริการออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้สามารถนำข้อมูลของลูกค้าไปวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้งานต่อได้หลากหลายรูปแบบและแม่นยำมากขึ้น จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้บริษัทฯ มีจำนวนลูกค้าองค์กรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจธนาคาร การเงินและประกันภัย กับกลุ่มธุรกิจค้าปลีก” นางสาวเดือนพรรณ กล่าว

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ในปี 65-67 ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คาดการณ์ว่าในปี 65 อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์จะเติบโต 11.70% ด้วยมูลค่ารวม 183,051 ล้านบาท และคาดว่ารัฐบาลน่าจะประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลัง COVID-19 คลี่คลาย ที่เป็นรูปธรรม จึงทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นส่งผลให้ตลาดซอฟต์แวร์กลับมาเติบโต รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ยังคงอยู่ จึงยังมีการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องตามไปด้วย โดยในปี 66 คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะเติบโตขึ้น 12.10% ด้วยมูลค่ารวมราว 205,200 ล้านบาท การดำเนินวิถีใหม่ (New Normal) ยังคงอยู่และจะคงอยู่ตลอดไป ทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องสรรหาเครื่องมือที่จะทำให้เข้าถึงลูกค้า และตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าให้มากที่สุด ซึ่งไอทีและซอฟต์แวร์จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ

 

#TBN #Mendix #Lowcode