HoonSmart.com>>”ปูนซิเมนต์ไทย” เร่งสู้วิกฤตซ้อนวิกฤต ฉุดกำไรร่วง แต่มองเห็นโอกาส สั่งลุย 3 ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง รับเทรนด์โลก “พลังงานหมุนเวียน -Smart Living -โลจิสติกส์ครบวงจรรายใหญ่ในอาเซียน ผ่านควบรวม JWD แลกหุ้นเข้าถือ 43.7%” หนุนปี 66 โต แต่ไม่รู้เพิ่มเท่าไร ประเมินนโยบายจีน-สหรัฐไม่ออก ฉุดเศรษฐกิจ-กำลังซื้อ หั่นงบลงทุนเหลือ 5.5 หมื่นล้านบาท ชะลอแผนซื้อกิจการ รัดเข็มขัดแน่น มั่นใจการเงินแข็งแกร่ง
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยว่า บริษัทฯพลิกเกมส์สู้วิกฤตที่ฉุดให้ไตรมาสที่ 3/2565 เหลือกำไรสุทธิเพียง 2,444 ล้านบาท ร่วงลง 64% และรวม 9 เดือนปีนี้กำไรสุทธิ 21,225 ล้านบาท ลดลง 45% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เกิดจากวิกฤตต้นทุนพลังงานรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี จากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงวัฏจักรปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่บริษัทมีต้นทุนพลังงานสูงเกือบ 50% จึงปรับตัวเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน มีกำลังการผลิต 220 MW เพื่อนำมาใช้มากขึ้น ทำให้ธุรกิจซีเมนต์ในประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเพิ่มขึ้นถึง 40% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดในการผลิต และรวม 9 เดือนเพิ่มเป็น 34% จาก18% โดยตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2565 จะผลักดันให้เป็น 50%
“เรามองเห็นโอกาสจากวิกฤต โดยเข้าสู่ 3 ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง และตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก ได้แก่ 1. ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 2. ธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรรายใหญ่ในอาเซียน และ3. ธุรกิจSmart Living ยกระดับคุณภาพชีวิตให้สะดวก คุ้มค่า ปลอดภัย รักษ์โลก มีนวัตกรรมอัจริยะเพื่อคุณภาพอากาศและประหยัดค่าแอร์ได้ถึง 30% สร้าง ซ่อม บ้านผ่านแพลตฟอร์มง่ายและสะดวกรวดเร็ว”
สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทน มีแผนขยายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งแบบโซลาร์ฟาร์มและแบบลอยน้ำ ด้วยการเข้าประมูลข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐ (PPA) ซึ่งจะมีขนาดกำลังการผลิตตั้งแต่ 100-200 เมกะวัตต์ ขยายการทำธุรกิจ B2C ไม่จำกัดอยู่เพียง B2B เท่านั้น
ล่าสุด บริษัท เอสซีจี เคมิคอล (SCGC) ยังร่วมลงทุนกับบริษัท Denka ประเทศญี่ปุ่น ผลิตอะเซทิลีนแบล็ค (Acelylene Black) ใช้เป็นส่วนประกอบในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์ไฟได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง โดย SCGC ถือหุ้นในสัดส่วน 40%
ส่วนธุรกิจโลจิสติกส์ มีการนำบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ (SCGL) ควบรวมกิจการกับ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) ผ่านวิธีการแลกหุ้น เพื่อเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรรายใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยบริการที่หลากหลายทั้งบริการคลังสินค้า ระบบห้องเย็น บริการขนส่งสินค้าทั้งทางบก เรือ อากาศ บริการท่าเทียบเรือ และบริการนำเข้า-ส่งออกครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ
ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมของ SCGI จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง JWD จำนวน 791,020,363 หุ้น ในราคาหุ้นละ 24.02 บาท เพื่อแลกหเข้ามาถือหุ้นใน JWD ในสัดส่วนไม่เกิน 43.7% ของหุ้นทั้งหมด
นายรุ่งโรจน์กล่าวถึงแนวโน้มการดำเนินงานในปี 2566 ว่า ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เพราะมี 3 ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพและจรับรู้รายได้โครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) เฟส 1 ที่เวียดนาม คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในครึ่งปีแรก แต่นึกไม่ออกว่ารายได้จะโตได้เท่าไร เนื่องจากธุรกิจเดิมมีหลายปัจจัยเข้ามากระทบ และคาดการณ์ไม่ออก ไม่ว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์ จีนจะผ่อนคลายเมื่อไร และมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดหลายครั้ง จะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐอย่างไร ตอบไม่ได้จริงๆ ไม่รู้ว่าปัญหาจะลากยาวนานแค่ไหน ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อสินค้า ขณะเดียวกันบริษัทจำเป็นต้องปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้สินค้าขายยากยิ่งขึ้น
กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า สถานการณ์นี้ SCC จะต้องสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ตัดงบลงทุนสำหรับปีนี้ลงเหลือ 55,000 ล้านบาท จากเดิม 80,000 ล้านบาท เช่น ชะลอการซื้อกิจการ และเลือกลงทุนในโครงการที่ให้ผลตองแทนกลับมาเร็ว รวมถึงการรัดเข็มขัด อาทิ ชะลอการรับพนักงานใหม่ และเพิ่มสภาพคล่องเงินสด ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา มีการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้น 3.5 หมื่นล้านบาท
บริษัทยังคงปรับกลยุทธ์นวัตกรรมสินค้าและบริการ HVA (High Value Added Products & Services) ได้ยกระดับเกณฑ์การพิจารณาให้เข้มข้นขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก เน้นการปรับตัวให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างผลกำไรให้สูงขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ มียอดขายสินค้าและบริการ HVA จำนวน 152,888 ล้านบาท คิดเป็น 34% ของยอดขายรวม สัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ และ Service Solution คิดเป็น 17% และ 6% ของรายได้จากการขายรวม ตามลำดับ ส่วนแหล่งที่มาของรายได้ จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ใน 9 เดือน ทั้งสิ้น 203,134 ล้านบาท คิดเป็น 45% ของยอดขายรวม เท่ากันกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกัน SCGC ลงทุนซื้อหุ้น 70%ในบริษัทซีพลาสต์ (Sirplaste) ประเทศโปรตุเกส เดินหน้าขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ป้อนตลาดยุโรปและแอฟริกา และ SCGPได้ขยายการลงทุนสู่ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูง (Deltalab, S.L.) ประเทศสเปน ส่งออกครอบคลุมตลาดทั่วโลก ทั้งยังขยายกิจการรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ซึ่งมีความต้องการสูงและตอบเทรนด์รักษ์โลก ได้แก่ Peute Recycling B.V. (Peute) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Jordan Trading Inc. (Jordan) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้านการนำหุ้นบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับอนุญาตจากก.ล.ต.ในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) แล้ว แต่คาดว่าจะขายได้ในปี 2566 โดยจะพิจารณาจากภาวะตลาดที่มีความเหมาะสม หรือรอจังหวะให้เงินทุนต่างชาติไหลกลับมาก่อน จากปัจจุบันที่ยังไหลออกต่อเนื่อง