TSE ขายหุ้นบริษัทลงทุนโรงไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ในญี่ปุ่นให้ FPI ในสัดส่วน 40% รับเงิน 1,695 ล้านบาท ก่อนนำไปใช้หนี้แบงก์ไทยพาณิชย์ “แคทลีน” ยันไม่ขายหุ้น หลังมีนักลงทุนบางเจ้าติดต่อขอซื้อ
น.ส.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) เปิดเผยว่า TSE ได้ขายหุ้นบริษัท ทีเอสอี โอเวอร์ซีส์ กรุ๊ป (TSEO) ซึ่งมีโครงการลงทุนผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่น 8 โครงการ 176.72 เมกะวัตต์ ในสัดส่วน 40% ให้กับบริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) ซึ่งการร่วมทุนเป็นพันธมิตรระหว่าง TSE และ FPI ในครั้งนี้ จะทำให้ TSEO มีศักยภาพในการลงทุนผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันโครงการผลิตไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ในญี่ปุ่นทั้ง 8 โครงการ มีมูลค่าการลงทุน 2 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 5 โครงการ 6.99 เมกะวัตต์ อีก 2 โครงการ 14.75 เมกะวัตต์ ทยอยแล้วเสร็จจะขายไฟฟ้าภายในปี 2562 ส่วนโครงการใหญ่ 1 โครงการ 154.98 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างก่อสร้างและจะขายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2565 ซึ่งแต่ละโครงการได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากสถาบันการเงินทั้งในประเทศและในญี่ปุ่นในสัดส่วน 75-85%
“เงินที่ TSE ได้มาจากร่วมทุน 1,695 ล้านบาท จะนำไปชำระคืนหนี้ระยะสั้นที่กู้ยืมจากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนลดจาก 1.7 เท่า เหลือ 1.2 เท่า รวมทั้งบันทึกเป็นกำไรบางส่วนได้ ขณะที่ FPI กับ TSE จะพันธมิตรในการลงทุนผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่นเพิ่ม เพราะโอกาสมีอีกมาก โดย TSEO อยู่ระหว่างศึกษาโครงการลงทุนโซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่นอีก 40-50 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลและไบโอแก๊ส”น.ส.แคทลีนกล่าว
น.ส.แคทลีน กล่าวว่า หาก TSEO มีโครงการลงทุนเพิ่มเติมในญี่ปุ่น TSE มีแหล่งเงินลงทุนพร้อมอยู่แล้ว ทั้งเงินจากการขายหุ้นกู้ที่เหลืออยู่ และการเพิ่มทุน โดยเมื่อปีที่แล้วบอร์ดและผู้ถือหุ้นอนุมัติให้ TSE ขายหุ้นเพิ่มทุนได้ 3,000 ล้านบาท หากมีความต้องการใช้เงินก็สามารถประกาศเพิ่มทุนได้ทันที แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง
น.ส.แคทลีน กล่าวว่า การลงทุนผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลในญี่ปุ่นมีความเสี่ยงต่ำ และสถาบันการเงินในประเทศและในญี่ปุ่นสนับสนุนเงินกู้ในสัดส่วนที่สูง เพราะมีสินทรัพย์ที่มั่นคงเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นจะปรับลดอัตรารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เหลือ 19 เยนต่อหน่วย หรือประมาณ 6-7 บาทต่อหน่วย แต่โครงการที่ TSEO มีอยู่นั้นเป็นโครงการที่มีสัญญาขายไฟฟ้าระยะ 20 ปี และขายได้ในราคา 36 เยนต่อหน่วย หรือ 12 บาทต่อหน่วย
“แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะลดอัตรารับซื้อไฟฟ้าลงมา แต่มีหลายโครงการที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วและมีสัญญารับซื้อไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 30 เยนต่อหน่วย แต่ยังไม่ลงทุน ซึ่งบริษัทจะมองหาโอกาสจากโครงการเหล่านี้ และจากต้นทุนการลงทุนแผงโซล่าร์เซลล์และอินเวอร์เตอร์ที่ลดลงมาก ประกอบกับต้นทุนการกู้เงินในญี่ปุ่นที่ต่ำมาก ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่นใกล้เคียงกับการลงทุนในไทย”น.ส.แคทลีนกล่าว
ส่วนการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยนั้น ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐที่ชะลอรับซื้อไฟฟ้า 5 ปี และคงต้องรอดูว่าแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ จะกำหนดสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เอกชนต้องการเห็น คือ การที่ภาครัฐกำหนดช่วงเวลาการรับซื้อไฟฟ้าแต่ละประเภทที่ชัดเจน ส่วนการลงทุนในประเทศอื่นๆนอกจากไทยและญี่ปุ่น เช่น เวียดนาม ทาง TSE อยู่ระหว่างรอความชัดเจนของนโยบาย
ทั้งนี้ TSE มีการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรวม 298.42 เมกะวัตต์ เป็นโครงการในไทย 121.7 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 99.5 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 22.2 เมกะวัตต์ ส่วนการลงทุนในต่างประเทศมีเฉพาะในญี่ปุ่น 176.72 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 6.99 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 169.73 เมกะวัตต์
น.ส.แคทลีน ยังกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนหลายรายติดต่อขอซื้อหุ้น TSE จากตนเอง ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 42% โดยยืนยันว่า “ไม่มีความคิดที่จะขาย”
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท FPI กล่าวว่า เม็ดเงินที่ใช้ลงทุนใน TSEO จะมาจากเงินกู้จากสถาบันการเงิน กระแสเงินที่มีอยู่ และเงินที่ได้รับการแปลงใบสำคัญแสดงสิทธิ์ (วอแรนต์) ขณะที่การลงทุนดังกล่าวจะมีไม่ผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทแต่อย่างใด เพราะหลังจากที่เข้าลงทุนแล้วบริษัทจะได้รับกระแสเงินสดจาก TSEO เข้ามาเป็นรายได้ประจำปีละ 200 ล้านบาท
“การลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เราคิดมา 3-4 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ได้ลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ จ.นราธิวาส 7.5 เมกะวัตต์ กำลังศึกษาเพิ่มอีก 2 โรง 4-5 เมกะวัตต์ และลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ จ.แพร่ 1 เมกะวัตต์ ส่วนการเข้าไปร่วมทุนผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่น จะทำให้ FPI มีรายได้ประจำเข้ามาสม่ำเสมอ นอกเหนือจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนบอดี้รถยนต์ยี่ห้อต่างๆที่ต้องวิ่งหาออเดอร์อยู่ตลอดเวลา”นายสมพลระบุ
นายสมพล กล่าวว่า หาก TSEO มีโครงการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่นเพิ่มเติมอีก บริษัทอาจมีความจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินทุนจากการเพิ่มทุน
“ราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่นหากต่ำกว่า 30 เยนต่อหน่วย จะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ถ้าสูงกว่า 30 เยนต่อหน่วยจะคุ้มค่า เช่น โครงการโซลาร์เซลล์ของ TSEO ที่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 36 เยนต่อหน่วย”นายสมพลกล่าว
นายสมพล กล่าวว่า แม้ว่า FPI จะเพิ่มการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน แต่ธุรกิจผลิตบอดี้ชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก บริษัทมีแผนขยายการลงทุนไปต่างประเทศต่อเนื่อง เช่น สหรัฐ ยุโรป และตะวันออกกลาง จากปัจจุบันเข้าไปตั้งโรงงานในอินเดีย และเอกวาดอร์ แต่การลงทุนจะใช้แนวทางใหม่ คือ ให้ผู้ร่วมทุนเช่าเครื่องพิมพ์ชิ้นส่วนจากบริษัทไปใช้ก่อน และหากมีกำลังการผลิตมากกว่า 1.5 หมื่นชิ้นต่อเดือน บริษัทจึงจะเข้าไปลงทุนตั้งโรงงาน