HoonSmart.com>>บอร์ด”ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์” ไฟเขียวเพิ่มทุน ซื้อกิจการ Asia GSA มาเลเซีย ขึ้นแท่นผู้นำโลจิสติกส์ในเอเชีย ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจขายระวางสินค้าสายการบิน เพิ่มถือหุ้นบริษัทเอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล(ANI) จาก 50.35%เป็น 51.66% พร้อมเข้าตลาดหุ้น Q3/66 หนุนกำไรโตมั่นคง แย้มปีหน้าจบดีลซื้อกิจการ-ร่วมทุน แนวโน้มธุรกิจครึ่งปีหลังสดใส
นายทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ (III) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ(บอร์ด) มีมติอนุมัติการเพิ่มทุน 50,775,641 หุ้น เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม ขึ้น XR วันที่ 7 ธ.ค. ในอัตรา 15 ต่อ 1 ในราคาหุ้นละ 12 บาท ได้รับเงินประมาณ 609 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อกิจการ Asia GSA (M) เพิ่มจาก 20% เป็น 100% ผ่านบริษัทย่อย เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล (ANI) ที่ III ถือหุ้นในสัดส่วน 50.35% และขายหุ้นทั้งหมดในบริษัท ทริพเพิล ไอ เอเชีย คาร์โก (TAC) รวมมูลค่า 5,520 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ ถือหุ้น ANI เป็น 51.66% เป็นการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจขายระวางสินค้าสายการบินของกลุ่ม และยื่นไฟลิ่ง ANI ในเดือนเม.ย. เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาสที่ 3/2566 หนุนกำไรเติบโตอย่างมั่นคง
” ดีลนี้ใหญ่มาก เป็นความสำเร็จของกลุ่มที่เดินตามแผน การซื้อขายกิจการจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ บริษัทฯจะเริ่มรับรู้กำไรจาก M เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ไตรมาส1 /2566 จากปีนี้คาดจำนวน 402 ล้านบาท ปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 870 ล้านบาท และ 1,000 ล้านบาทในปี 2567 เช่นเดียวกับการรับรู้กำไรจาก ANIเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น เป็น 51.66% ทำให้ III เป็นบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนสายการบินระดับภูมิภาครายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจในระดับภูมิภาค”นายทิพย์กล่าว
การเข้าลงทุนในบริษัท Asia GSA (M) ในครั้งนี้ จะช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาว ขยายเครือข่ายการให้บริการด้านโลจิสติกส์ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชีย ผ่านเครือข่ายพันธมิตรมากกว่า 10 ประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม รวมถึงไทย และสามารถขยายเครือข่ายพันธมิตรไปสู่ภูมิภาคอื่นทั่วโลก เช่น ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งจะเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างที่จะทำให้บริษัทฯ เติบโตสู่การเป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์ในเอเชียที่มีเครือข่ายและฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคนี้
ดีลนี้นับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของ III ภายใต้แนวคิด “Logistics and Beyond” ซึ่งประกอบไปด้วย 4 แนวคิดหลัก ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ครบวงจรระดับแนวหน้าของไทย ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ชั้นนำในระดับภูมิภาค โดยเตรียมความพร้อมการเป็นตัวแทนสายการบินต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค จากปัจจุบันที่เป็นตัวแทนอยู่กว่า 20 สายการบิน พัฒนาโมเดลธุรกิจและบริการในรูปแบบใหม่ ๆ นอกเหนือไปจากบริการเดิม อาทิ ธุรกิจการให้บริการภาคพื้นอากาศยานที่ครอบคลุมทั้งสินค้าและผู้โดยสาร ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางรางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ พัฒนาบริการโลจิสติกส์ในรูปแบบออนไลน์ อาทิ e-Commerce Enabler, e-Logistics Platform เพื่อรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดอีคอมเมิร์สและต่อยอดการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์เฉพาะทาง การขนส่งทางราง ทำแล้ว เพื่อเชื่อมลาว และจีน มีการเซ็นสัญญากับพันธมิตรจีนไปแล้วหลายราย
แนวโน้มบริษัทฯไม่มีแผนการใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่เพื่อขยายธุรกิจ ยกเว้น การร่วมลงทุนและซื้อกิจการ ซึ่งในปี 2566 จะสรุปดีลใหม่ๆ แน่นอน รวมถึงการเติบโตของธุรกิจบริการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นหลัก การบริหารภาคพื้นสนามบินหลายสนามบิน แนวโน้มผลการดำเนินงานนิวไฮอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสเที่บริษัทจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป) 1 หมื่นล้านบาท
สำหรับธุรกิจบริการขนส่งสินค้าทางอากาศในช่วงครึ่งปีหลัง มีทิศทางทีดีขึ้น หลังจากการเดินทางทั่วโลกเริ่มมีการผ่อนคลายและเปิดประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจีน ที่คาดว่าจะเริ่มเปิดประเทศอีกครั้งในปลายปีนี้ ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนคลี่คลายลง ทำให้บริษัทฯ มีพื้นที่ระวางสินค้าให้บริการได้มากขึ้น จะมีผลต่อผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และต่อเนื่องถึงปี 2566
ด้านนายวิรัช นอบน้อมธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการเงิน III กล่าวว่า การเพิ่มทุนจดทะเบียนครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่บริษัทเข้าจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาซื้อกิจการ ส่วนที่เหลือใช้เงินจากกระแสเงินสดของบริษั การเพิ่มทุนทำให้ฐานทุนแข็งแรง เพิ่มความสามารถในการขยายการลงทุน และการก่อหนี้มากขึ้น ปัจจุบันมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)อยู่ในระดับต่ำ ประมาณ 0.6 เท่า และยังเปิดโอกาสให้ผู้ถือวอร์แรนต์ที่จะแปลงสภาพเป็นหุ้น มาใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ด้วย
“การเพิ่มทุนจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่บริษัทจะคิดถึง เดิมใช้เงินจากสถาบันการเงินเป็นหลัก และไม่ต้องใช้หลักประกัน แบงก์ให้เครดิตไลน์มาแล้ว แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะกู้หรือไม่ บริษัทจะต้องรักษาสภาพคล่อง โดยเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2/2565 ที่ผ่านมามีกระแสเงินสดอยู่ในมือ 200-300 ล้านบาท”นายวิรัชกล่าว