HoonSmart.com>>”ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป”นำกลุ่มแบงก์โชว์ผลงานไตรมาส 3/65 สวยงาม มีกำไรสุทธิ 1,771 ล้านบาท เติบโต 13.5%จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินเชื่อขยายตัว 4.8% หนุนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิดีขึ้น 4.2% รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยฟื้นตัวแข็งแกร่งที่ 44.3% ด้าน NPLs มีจำนวน 4,441.56 ล้านบาท ลดลง 0.5% จากไตรมาส 2 ลดการตั้งสำรอง ส่วน 9 เดือนปีนี้มีกำไรสุทธิ 5,415 ล้านบาท โต 8.5%
บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 3/2565 มีกำไรสุทธิ 1,771 ล้านบาท กำไรหุ้นละ 2.21 บาท เพิ่มขึ้น 211 ล้านบาทหรือ 13.5% จากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,560 ล้านบาทหรือ 1.95 บาท แต่กำไรลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 กำไรสุทธิลดลง 77.11 ล้านบาท หรือ 4.2% สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) จำนวน 107.59 ล้านบาท เทียบกับผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินจำนวน 173.12 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2565
ส่วนผลประกอบการโดยรวม 9 เดือนปีนี้ กำไรทั้งสิ้น 5,415 ล้านบาท เท่ากับ 6.76 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 425.24 ล้านบาท หรือ 8.5% จากที่มีกำไรสุทธิ 4,990 ล้านบาทหรือ 6.23 บาทต่อหุ้นในช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 17.6%
สาเหตุที่ทำให้กำไรในไตรมาสที่ 3 เติบโต 13.5% มาจากการฟื้นตัวของธุรกิจหลัก โดยเงินให้สินเชื่อกลับมาเติบโต 4.8% จากไตรมาสก่อนหน้า จากสินเชื่อทุกประเภท ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้น 4.2% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 44.3% สอดคล้องกับปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้น 27.7% ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนยังคงอ่อนตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งรายได้ค่านายหน้าการซื้อขายหลักทรัพย์ชะลอตัวลง 15.1% ตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานจากธุรกิจจัดการกองทุนลดลง 0.9% จากการกองออกทุนใหม่ที่ลดลงในสภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวย
ในไตรมาส 3 ปี 2565 สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) มีจำนวน 4,441.56 ล้านบาท ลดลง 0.5% จากสิ้นไตรมาส 2/2565 และคิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ที่ 2.08% ของสินเชื่อรวม ลดลงจาก 2.20% ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องมาจากบริษัทยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างดี เป็นไปตามมาตรการการควบคุมคุณภาพลูกหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทยังคงลดระดับการตั้งสำรองลง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ระดับค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) ยังคง
แข็งแกร่งที่ 248% และลดผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.2%
สำหรับกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกของปี เติบโต 8.5% สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่ 5.0% จากสิ้นปี 2564 การฟื้นตัวของธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ขยายตัว 25.1% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่ลดลง 79.2% ตามคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนรายได้รวมจากการดำเนินงานอ่อนตัวลง 3.8% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน ทั้งปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ชะลอตัวลง และการออกกองทุนใหม่ที่ลดลง รวมถึงผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่อ่อนตัวลง