ค่าเงินบาทแกร่งสุดในสกุลภูมิภาคเอเชีย แข็งค่า 2% ในไตรมาส 3
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ในไตรมาสล่าสุดซึ่งเป็นช่วงแห่งความยากลำบากของค่าเงินประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศ แต่ค่าเงินบาทของไทยแข็งแกร่งที่สุดด้วยแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ประเทศไทยจึงดึงดูดนักลงทุน ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับจากปี 2554
ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบ 2% ในไตรมาสล่าสุดเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ และจัดว่าเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่งอันดับต้นๆ ในบรรดาสกุลเงินหลักของเอเชีย 12 ประเทศ จากการเกาะติดความเคลื่อนไหวของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก และยังแข็งแกร่งเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ รองจากเงินเปโซ เม็กซิโก ที่ได้รับผลดีจากข้อตกลงการค้ากับสหรัฐ
ในไตรมาสก่อนหน้า เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมากและเป็นสกุลเงินที่อ่อนแอสุดในบรรดาสกุลเงินเอเชีย
“เงินบาทได้รับแรงหนุนเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีท่าที่จะปรับแนวนโยบายการเงินเป็น แบบ Hawkish หรือมีท่าทีจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น เพราะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เงินเฟ้อกลับมาอยู่ในเป้าหมายที่วางไว้” ทากาฮิเดะ อิริมูระ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ โคคูไซ แอสเซ็ท เมเนจเม้นท์ ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 121 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน
“เงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอีกในไตรมาสสุดท้ายของปี เมื่อฤดูกาลทำรายได้จากการท่องเที่ยวเริ่มต้น และมีผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล”
ประเทศไทยตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมานานหลายปี เศรษฐกิจของไทยเริ่มเคลื่อนตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากการที่รัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่การเมืองในประเทศเริ่มเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ.2561 ได้ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทำให้คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายเกี่ยวกับการลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้งจะมีผลต่อการบริโภคและการจ้างงาน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ระบุว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราต่ำกว่า 4% ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง และคาดว่าจะเติบโตในอัตราใกล้เคียงกันในปีหน้า และคาดว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น
เงินบาทแตะระดับสูงสุดของรอบ 3 เดือนในสัปดาห์ที่สามของเดือนกันยายนหลังจาก ธปท. ความจำเป็นที่ของการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายลดลง และหลังสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน 2 ใน 7 คนออกเสียงให้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นจาก 1.5%
ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลเกือบ 10% ของจีดีพี เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนค่าเงินบาทในช่วงที่ค่าเงินประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ถูกเทขายจากสถานการณ์ค่าเงินอาร์เจนตินาและเงินตุรกี เงินทุนต่างชาติไหลเข้าพันธบัตรไทยราว 3.5 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่ต้นไตรมาส แม้จะดึงเงินบาทส่วนออกจากตลาดหุ้น แต่ดัชนี SET ก็ยังปรับตัวดีมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นหลักประเทศเอเชียอื่น และนับเป็นการปรับตัวขึ้นที่ดีสุดนับจากปี 2556
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญานว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินจะคอยดูไม่ให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อเศรษฐกิจ หากตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย และหลังจากที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว มีความเป็นไปได้ที่ต้องชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไว้ชั่วคราวหลังจากนี้
จาก https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-09-28/in-a-stormy-quarter-thailand-s-baht-shines-as-rate-rise-beckons