HoonSmart.com>>คืนนี้จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง 1% หรือ 0.75% ผวาเศรษฐกิจถดถอย ป่วนหุ้นโลกร่วงระนาว เงินเข้าหลบเข้าดอลลาร์สหรัฐ กดค่าเงินภูมิภาคร่วง บาททดสอบ 37.20 อ่อนสุดเกือบ 16 ปีอีกครั้ง รองนายกฯ”พล.อ.ประวิตร”เปรี้ยง! เงินบาทเหมาะสมต้อง 35 สั่งคลัง-ธปท.หาทางแก้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยปี 65 ค่าเงินไทยอ่อนอันดับ 5 เทียบเอเชีย แนวโน้มผันผวนต่อ เตือนผู้ประกอบการระวัง แนะเลือกใช้เครื่องมือ ปิดความเสี่ยง
นับถอยหลังคืนนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ(เฟด)จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.00% หรือ 0.75% ต้องรอฟังการส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งหน้าและแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไร หากตัดสินใจใช้ยาแรง จะยิ่งทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าผิดปกติ เศรษฐกิจสหรัฐที่มีความเสี่ยงถดถอยในปี 2566 อาจจะเกิดขึ้นเร็วขึ้น ส่วนเศรษฐกิจยุโรปที่แย่ลงมาก กลับอาการหนักขึ้น กดดันตลาดหุ้นโลกปักหัวลง นำโดย 3 ตลาดสหรัฐร่วง 1% หุ้นภูมิภาคทรุดตาม นำโดยฮ่องกง -1.79% ญี่ปุ่น -1.36% เจอปัจจัยลบซ้ำเติมกรณีประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศระดมกำลังพล และเคลื่อนพล ทำให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์ และเงินเยน
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,633.45 จุด ลดลง 5.14 จุด หรือ -0.31% มูลค่าซื้อขาย 70,140.73 ล้านบาท จากนักลงทุนต่างประเทศขายเพียง 1,002 ล้านบาท และสถาบันไทยขายตาม 1,048.57 ล้านบาท ด้านนักลงทุนไทยซื้อสุทธิ 2,435 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทนักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ปิดตลาด อยู่ที่ 37.16 บาท/ดอลลาร์ยังคงอยู่ในระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี เช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค
นายชัยยศ จิวางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี กล่าวว่า หุ้นปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย และตลาดในยุโรปเทรดบ่ายนี้ต่างก็ปรับตัวลง ในช่วงรอผลประชุมเฟดในคืนนี้ ซึ่งคาดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75%
ตลาดปรับตัวลงไม่มาก ได้รับแรงซื้อจากหุ้นในกลุ่ม ICT ที่มีอัพไซด์หลังมีพัฒนาการเชิงบวกจากสำนักงานกฤษฎีกาลงความเห็นให้ดีลควบกิจการ TRUE และ DTAC เข้าข่ายประกาศปี 2561 หนุนโอกาสเกิดการควบรวมมีมากขึ้น และในช่วงบ่ายตลาดได้รับแรงหนุนจากหุ้นในกลุ่มพลังงานที่ขึ้นมาตอบรับราคาน้ำมันฟิวเจอร์สดีดตัวขึ้น หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เตรีรยมยกระดับการทำสงครามในยูเครน นอกจากนี้ตลาดยังเผชิญแรงขายจากหุ้นในกลุ่มอื่น อย่างหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว, ค้าปลีก เป็นต้น ทำให้ดัชนีฯมีความผันวน
ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นในวันที่ 22 ก.ย.2565 ตลาดคงจะแกว่งตัว โดยมีแนวรับ 1,630 จุด แนวต้าน 1,650 จุด
ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 ก.ย.2565 มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีที่เงินบาทอ่อนค่าลงมากถึง 37 บาท/ดอลลาร์ในช่วงนี้ เพราะเห็นว่าจะปล่อยให้ลอยตัวมากเกินไปไม่ได้ โดยมองว่าเงินบาทที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ประมาณ 35 บาท/ดอลลาร์
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เตรียมนัดหารือกับ ธปท. เกี่ยวกับปัญหาเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมาก ว่าเกิดจากปัจจัยเรื่องใดเป็นหลัก และส่งผลกระทบในด้านใด แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะนัดกันได้เมื่อใด อย่างไรก็ตาม า ธปท.ยืนยันว่าได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจ ส่วนสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายขณะนี้ยังไม่พบว่ามีความผิดปกติ
รมว.คลัง กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้ ราคาพลังงาน และความเป็นห่วงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศมหาอำนาจ เป็นปัจจัยกดดันสำคัญ และเป็นที่จับตามองจากทั้งวงการการเงินและตลาดทุน ซึ่งจะต้องเตรียมการรองรับเอาไว้ เพราะไทยก็อาจจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง ดังนั้นก็ต้องปรับตัวกันไป
ทั้งนี้หากย้อนดูสถิติที่ผ่านมา จะมีช่วงที่เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดแล้วจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงระดับสูงที่สุดแล้วจนทุกอย่างอยู่นิ่ง เมื่อถึงเวลานั้น ค่าเงินบาทก็จะมีการปรับตัวตามพื้นฐานใหม่ ยืนยันว่าเรื่องค่าเงินนั้น มีขึ้นก็ต้องมีลง โดยยอมรับว่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลกระทบกับเรื่องวัตถุดิบ ราคาต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้พยายามออกมาตรการดูแลอยู่ตลอด โดยเฉพาะการดูแลราคาขายปลีก และมาตรการต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยพยุงในเรื่องของต้นทุน ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลทำทุกอย่างเท่าที่มีเครื่องมือ
ด้านธปท.เปิดเผยว่า ช่วงนี้อยู่ระหว่าง silence period ขอไม่ให้ความเห็นเรื่องค่าเงินบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า เงินบาททดสอบ 37.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนต.ค.2549 ครั้งใหม่ ยังคงเกาะไปกับทิศทางค่าเงินหยวนและกลุ่มอื่นๆใน เอเชีย สะท้อนชนวนสำคัญมาจากเรื่องเงินดอลลาร์ที่แข็งค่ามากตามจังหวะการคุมเข้มนโยบายการเงินแบบแข็งกลางของเฟด
” นับตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 21 ก.ย.2565 เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ นับว่าอ่อนเป็นอันดับ 5 ในเอเชีย ตามหลังเงินเยนญี่ปุ่น เงินวอนเกาหลีใต้ เงินเปโซฟิลิปปินส์และเงินดอลลาร์ไต้หวันตามลำดับ”
ส่วนแนวโน้มช่วงที่เหลือ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทยังคงมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่ผันผวน ซึ่งผู้ประกอบการต้องระมัดระวังและควรเลือกใช้เครื่องมือ
(อาทิ สัญญาฟอร์เวิร์ด หรือออปชั่น) เพื่อปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะคงต้องยอมรับว่าตลาดการเงินยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะในการติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อและประเด็นแวดล้อมอื่นๆ ของสหรัฐฯ เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอที่จะตกผลึกมุมมองในเรื่องดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องแนวโน้มและจุดสิ้นสุดของวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ได้อย่างชัดเจน หากมุมมองในเรื่องแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว ก็น่าจะช่วยให้แรงกดดันด้านอ่อนค่าที่มีต่อเงินบาทและสกุลเงินอื่นในภูมิภาคทยอยคลี่คลายลงไปได้ตามลำดับ