‘ไออาร์พีซี’โฉมใหม เป็นผู้นำดิจิตัลในกลุ่มปิโตรเคมี สร้างมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 3,300 ล้านบาทต่อปี วางแผน 5 ปี ใช้เงินซื้อกิจการหรือร่วมทุน 300-800 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม EBITDA 50-100 ล้านดอลลาร์ ลงทุนสร้างอะโรเมติกส์ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เป็นโรงกลั่นทำปิโตรเคมีมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง วิ่งเข้าหาเป้าหมายผู้นำเอเชียในปี 2563
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินโครงการ IRPC 4.0 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ GDP ในมิติ “Power of Digital”เพื่อพลิกโฉมธุรกิจของไออาร์พีซี ให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัลของกลุ่มปิโตรเคมีภายในปี 2563 คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 3,300 ล้านบาท/ปี ภายใต้งบประมาณของโครงการประมาณ 1,700 ล้านบาท กำหนดแผนงานทั้งหมด 29 แผนงาน ซึ่งในปีนี้ได้เริ่มดำเนินการจำนวน 19 แผนงานและอีก 10 แผนงานในปี 2562 เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับทุกขั้นตอนการทำงานของบริษัท
ปัจจุบันโครงการย่อยเสร็จแล้ว 2 โครงการ โครงการแรกคือระบบแสดงวัดผลตัวชี้วัดสำคัญในส่วนโรงงาน ผลออกมาตีค่าเป็นจำนวนเงิน สามารถเข้าใจง่าย แทนที่จะเป็นหน่วยลูกบาศก์เมตรเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้บุคคลากรสามารถควบคุมการทำงานได้ดียิ่งขึ้น ขณะนี้ทำเสร็จแล้วประมาณ 40% ของโรงงานทั้งหมด สร้างมูลค่าเพิ่มได้ประมาณ 110 ล้านบาทในปีนี้ หากสำเร็จทั้งโครงการจะสร้างมูลค่าเพิ่มประมาณ 1,200 ล้านบาท/ปี
โครงการที่ 2 คือการจัดทำระบบวิเคราะห์และบริหารจัดการข้อมูลที่เข้าใจง่าย สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆได้รวดเร็วขึ้น สามารถลดระยะเวลาการจัดซื้อจาก 85 วันทำการ เหลือ 35 วันทำการ ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 190 ล้านบาท/ปี
นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะพัฒนางานด้านธุรกิจ ยกระดับการผลิต คืนต้นน้ำ และยกระดับด้านการขาย คือปลายน้ำ เชื่อมโยงระบบในซัพพลายเชน จัดหาน้ำมันดิบจากแหล่งใหม่ ซื้อระยะสั้นเพิ่มขึ้น นำข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์ สามารถคาดการณ์ความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ในแต่ละช่วงเวลาได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงการขายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าในราคาที่แตกต่างกัน จากที่ผ่านมาใช้ราคาเดียวกันทั้งหมด
” ที่ปรึกษาของเรามีระบบที่ดี มีการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญจะต้องพัฒนาบุคคลากรให้มีความคิดเชิงวิเคราะห์ รองรับการเป็นผู้นำบริษัทดิจิทัลด้านปิโตรเคมี และเป็นบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำของเอเชียภายในปี 2563 ” นายสุกฤตย์กล่าว
ทางด้านของกำไร บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตของกำไรก่อนภาษี ดอกเบี้ย และหักค่าเสื่อมหรือ EBITDA ปีละ 10-15% จนถึงปี 2563 สามารถเพิ่ม EBITDA ถึง 29,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ผ่านมาอยู่ที่ 20,420 ล้านบาท ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ GPD ในโปรแกรม GALAXY ตามแผน 5 ปี(2561-2565) บริษัทคาดว่าจะใช้เงินในการซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน (M&A) ประมาณ 300-800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ได้ EBITDA ประมาณ 50-100 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเริ่มเห็น 1 ดีลในปีนี้ จากที่กำลังเจรจาอยู่ 2-3 ดีล เป้าหมายเพื่อต่อยอดธุรกิจ โดยบริษัทมีเงินสดหลังจ่ายเงินปันผลปีละ 1 หมื่นล้านบาท รวม 5 ปี มีเงินลงทุนรวม 5 หมื่นล้านบาท และสามารถกู้เงินได้อีก 5 หมื่นล้านบาท
นายสุกฤตย์ กล่าวว่า บริษัทยังวางแผนใช้เงินประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์ ลงทุนในโครงการ MARS เพื่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ผลิตพาราไซลีน 1.1-1.3 ล้านตัน/ปี และเบนซีน เป็น 3-5 แสนตัน/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ทำให้ไออาร์พีซีเป็นโรงกลั่นที่ผลิตปิโตรเคมีมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง และเพิ่มอัตราผลตอบแทนจาก 10% เศษเพิ่มเป็น 27%
” บริษัทค่อยๆสร้างความแข็งแรง เรื่องการซื้อกิจการ ก็ต้องเรียนรู้กันไป ไม่เหมือน IVL ที่ประสบความสำเร็จในการซื้อกิจการ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการลงทุนได้อย่างชัดเจน ส่วนเรื่องการวิจัยและพัฒนาหรือ R&D บริษัทยังคงให้ความสำคัญและจะเพิ่มงบประมาณ จากที่ใช้อยู่ตอนนี้ 1% ของรายได้ หรือ 1 คนดูแล 4 ผลิตภัณฑ์ ก็จะเพิ่มเป็น 3% และ 4 คนทำ 1 ผลิตภัณฑ์เหมือนในต่างประเทศ พร้อมสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาหรือ R&D Center คาดจะแล้วเสร็จในเดือนก.ย. 2562 เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต และยกบริษัทสู่ระดับโลก”นายสุกฤตย์ กล่าว
ส่วนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร(CSR)บริษัทไออาร์พีซี ก็ให้ความสำคัญ โดยจัดสรรกำไร 3% จากเฉลี่ย 3 ปี มาดูแล CSR รวมถึงการบริจาคเม็ดพลาสติคในการทำขาเทียม พร้อมพัฒนาเครือข่ายมาช่วยเหลือสังคม
นอกจากนี้ กลุ่ม บริษัทปตท. (PTT) เตรียมแผนร่วมทุนเพื่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมบุคลากร ด้านโรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี ในพื้นที่ไออาร์พีซีที่ จ. ระยอง คาดจะใช้เงินลงทุน 1,500-2,000 ล้านบาท เป็นการรองรับการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะบุคคลากรที่มีอยู่ในปัจจุบันใกล้จะเกษียณอายุ หากไม่ดำเนินการอะไรบุคลากรด้านนี้จะขาดแคลน ในขณะเดียวกันกลุ่ม ปตท. จะสร้างศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน ในพื้นที่เดียวกันลงทุนกว่า 100 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างเสร็จใน 2 ปีข้างหน้า
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2561 กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ที่ไม่รวมสต็อกน้ำมัน คาดว่าอ่อนตัวลงจากไตรมาส 2 เล็กน้อย จากค่าการกลั่น (GRM) ที่อ่อนตัวลงตามฤดูกาล แต่คาดว่าจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน คาดว่าราคาน้ำมันดิบปิดสิ้นไตรมาส 3 เฉลี่ยอยู่ที่ 76-78 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 72 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในสิ้นไตรมาส 2