HoonSmart.com>>จับตา 7ก.ย.นี้ ศาลปกครองนัดอ่านคำพิพากษาคดีหนี้ BTSC กับกทม. สูงถึง 4 หมื่นล้านบาท โบรกฯต่างเชื่อมั่น BTS ชนะคดี หากชนะจริงจะทำให้ Sentiment ดีขึ้น แต่ไม่มีผลต่องบกำไร-ขาดทุน เพราะบริษัทบันทึกรายได้ค่าจ้างเดินรถในแต่ละงวดแล้ว มีกระแสเงินสด เล็งไปคืนหนี้ เกาะติดกรอบเวลาชำระหนี้ “ชัชชาติ”จะจัดการอย่างไร หรือจะแลกเปลี่ยน ยืดอายุสัมปทานสายสีเขียวหลักที่จะหมดอายุในปี 72
ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยื่นฟ้อง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม (KT) ในวันที่ 7 ก.ย.เวลา 11.00 น. คดีพิพาทสัญญาทางปกครองกรณีผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร สายสีเขียว เพื่อขอให้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาสูงถึง 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ที่เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20,000 ล้านบาท และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่ามีโอกาสที่ BTS จะชนะคดี แต่หากชนะแล้ว จะไม่มีผลต่องบกำไร-ขาดทุน เนื่องจาก BTS ได้ทำการบันทึกรายได้จากการเดินรถไว้ในแต่ละงวดบัญชีแล้ว แต่จะทำให้ Sentiment ดูดีขึ้น ซึ่งมองเป็นกลาง แต่หากแพ้คดีก็จะทำให้ Sentiment คงจะดูไม่ดี แต่สิ่งที่น่าติดตามเป็นรถไฟฟ้าสายสีส้มมากกว่า อาจจะต้องติดตามดูความคืบหน้า
นายนฤดม มุจจลินทร์กูล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าทาง BTS จะต้องชนะคดีหนี้ของกทม. เพราะกทม.จ้างให้เดินรถส่วนต่อขยาย ซึ่ง BTS ควรจะได้รับค่าจ้าง ปกติ BTS จะบันทึกค่าจ้างเดินรถเป็นรายได้ตลอด เพียงแต่เป็นในรูปทางบัญชี ไม่ได้รับเงินสดจริงเข้ามา หากชนะคดี จะไม่มีผลต่อการงบกำไรขาดทุน แต่จะมีผลต่อกระแสเงินสด งบดุลที่รอเรียกเก็บเงินจากลูกค้ากทม. หาก BTS ได้เงินสดเข้ามา คงจะนำไปชำระคืนหนี้
“กทม. แพ้คดีนี้ เพียงแต่คำตัดสินของศาลจะออกมาในโทนไหน เช่น ต้องชำระภายในเมื่อไร ระบุวันชัดเจน จะทำให้เบาใจขึ้น แต่ถ้าไม่ระบุกรอบเวลา ต้องดูว่า “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร จะจัดการอย่างไร เพราะยังไงกทม.ก็ต้องจ่าย จะมีส่วนของค่าจ้างเดินรถ และสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต ซึ่งเดิมเป็นของ รฟม. ต่อมามีการโอนให้กทม.เป็นเจ้าของ ซึ่งมูลค่าร่วมแสนล้านบาท โดยค่าก่อสร้างอาจนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนกับการยืดอายุสัญญาสัมปทาน”นายนฤดมกล่าว
อย่างไรก็ดี ในเชิงปัจจัยพื้นฐานแนะนำ”ซื้อ”หุ้น BTS มองระยะยาวมากกว่า จากความเชื่อมั่นว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เป็นประเด็นอยู่จะจบลงได้ด้วยดี
บล.พาย แนะนำ”ซื้อ”หุ้น BTS ปรับลดมูลค่าพื้นฐานลงจาก 11 บาท เป็น 10.20 บาท หลังจากปรับลดมูลค่าพื้นฐาน VGI ลงเป็น 4.60 บาท (ถืออยู่ 52%) เพื่อสะท้อนถึงรายได้โฆษณาที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด และผลกระทบจากกลยุทธ์การตัดราคาเชิงรุกของ KEX ส่วนความกังวลเรื่องการต่อสัมปทานสำหรับสายสีเขียวหลัก (สัญญาปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในปี 2572) ยังคงเป็นประเด็นค้างคาที่ฉุดรั้งราคาหุ้น เชื่อว่าจะยังไม่ได้รับการคลี่คลายภายใน 6 เดือนข้างหน้า ดังนั้นจึงประเมิน downside คิดเป็น 1.70 บาท/หุ้น หากไม่ประสบความสำเร็จในการต่อสัมปทานไปอีก 30 ปี และเชื่อว่าราคาตลาดของ BTS ได้สะท้อนโครงการที่มีอยู่ในมือไปแล้ว ซึ่งหลักๆ คือสายสีชมพู(เริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2566) ส่วน upside ที่สำคัญ 2 รายการ ยังคงเป็นโครงการสนามบินอู่ตะเภา (ถือ 35%) และมอเตอร์เวย์ (ถือ 40%) เนื่องจากบริษัทตัดสินใจถอนตัวจากการประมูล MRT สายสีส้มรอบ 2
สำหรับปัญหาหนี้ที่กทม.คั่งค้าง BTSC สะสมมานานมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากพรบ.จัดตั้งกทม. เป็นองค์กรอิสระ ไม่ได้รับการอุดหนุนหรือค้ำประกันหนี้จากรัฐบาล ขณะเดียวกัน กทม.มีงบปีละประมาณ 8 หมื่นล้านบาท แต่กลับมีรายจ่ายประจำรวมถึงงบผูกพันก้อนใหญ่ คงเหลือเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอในการชำระหนี้ให้กับ BTSC และลูกหนี้รายอื่นๆ ดังนั้นหนึ่งในทางออกที่เป็นไปได้คือ การต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งที่ผ่านแนวทางนี้ได้เห็นด้วยกันทั้งสองฝ่ายแล้ว แต่การดำเนินการยังมีอุปสรรค ได้รับการคัดค้านจากหลายฝ่าย ครั้งนี้รอผลการตัดสินของศาลปกครองหามีข้อสรุปออกมา ก็น่าจะมีทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย และสร้างความชัดเจนให้กับ BTSC
ล่าสุดวันที่ 2 ก.ย.2565 หุ้น BTS ปิดที่ 8.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท หรือ +3.61% มูลค่าซื้อขาย 596.50 ล้านบาท รวมถึงใบสำคัญแสดงสิทธิหรือวอร์แรนต์รุ่นที่ 7(BTS-W7) ปิดที่ 0.29 บาท เพิ่มขึ้น 0.05 บาทหรือ +20.83% มูลค่าซื้อขาย 4 ล้านบาท และ BTS-W8 ปิดที่ 0.27 บาท เพิ่มขึ้น 0.04 บาทหรือ +17.39% มูลค่าการซื้อขาย 8 ล้านบาท