บล.เคทีบี ชี้ 3 เหตุผล PTTEP ชนะประมูลแหล่งบงกช หนุนอัพไซด์หุ้นเพิ่มจาก 150 บาท เป็น 167 บาท แนะนำ “ซื้อ”
บริษัทหลักทรัพย์เคทีบี (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์หุ้นบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เข้าประมูลแหล่งบงกช โดยมี 3 เหตุผลที่เชื่อว่า PTTEP จะป็นผู้ชนะบงกช คือ 1) การแข่งขันไม่รุนแรงเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 2 รายเท่านั้น จากจำนวนผู้มาขอซื้อซองทั้งสิ้น 4 ราย 2) เงื่อนไขการประมูลที่กำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำ (บงกชต้องผลิตก๊าซขั้นต่ำ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เอราวัณต้องผลิตก๊าซขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี), ราคาขายที่ไม่ให้เกินราคาเดิมและการแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐบาลขั้นต่ำ50% ทำให้ผู้ผลิตเดิมได้เปรียบ, และ 3)การที่ PTTEP เข้าประมูลบงกช 100% และ เอราวัณเพียง 60% แสดงให้เห็นว่า PTTEP มีความมั่นใจสูงในแหล่งบงกช
สำหรับขั้นตอนในการพิจารณานั้นประกอบไปด้วย 1) ซองข้อเสนอทางเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนการลงทุน แผนการพัฒนาแหล่ง แผนช่วงรอยต่อ 2) ซองข้อเสนอให้รัฐเข้ามีส่วนร่วมในสัดส่วนไม่เกิน 25% 3) ซองคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล และ 4) ซองข้อเสนอด้านราคาและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ โดยจะพิจารณา 3 เงื่อนไขแรกก่อนว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ จึงจะเปิดซองที่ 4 โดยคณะกรรมการฯ จะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 2 เดือนและคาดว่าจะทราบผลภายในเดือน ธ.ค. นี้
บล.เคทีบี ได้จัดทำผลของการประมูลไว้เป็น 3 กรณีด้วยกัน โดยเรายังให้น้ำหนักในกรณีฐานมากที่สุดคือ PTTEP จะป็นผู้ชนะบงกช ตามที่เราให้เหตุผลไว้ข้างต้น สำหรับมูลค่าส่วนเพิ่มในกรณีฐานที่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 17.00 บาทต่อหุ้น จากเดิมเราให้ไว้ที่ 13.40 บาท ต่อหุ้นซึ่งอิงสัดส่วนการถือหุ้นเดิมของบริษัทที่ 66.6% แต่การยื่นซองเมื่อวานนี้ PTTEP มีการยื่นในแหล่งบงกชด้วยสัดส่วน 100% ถึงแม้ราคาหุ้นจะมีการปรับขึ้นมาเกินราคาเป้าหมายของเราที่ 150 บาท แต่ราคาดังกล่าวยังไม่นับรวม Upside ส่วนเพิ่มจากบงกช
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ยังคงเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่องมีโอกาสที่จะมี Earning Upside ใน 2H18 เราจึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 150 บาท และถ้ารวมกรณีที่ PTTEP ชนะประมูลบงกชราคาเป้าหมายใหม่จะเป็น 167 บาท
“เรายังให้น้ำหนักในกรณีฐานมากที่สุดคือ PTTEP จะเป็นผู้ชนะการประมูลแหล่งบงกช เนื่องจากแหล่งบงกชเดิมนี้เป็นแหล่งที่ PTTEP มีการเป็นผู้ดำเนินการเดิมอยู่แล้ว และมีความชำนาญในด้านธรณีวิทยาในแหล่งดังกล่าว รวมถึงสามารถดำเนินการสำรวจแหล่งก๊าซอย่างต่อเนื่องได้ทันที ซึ่งทำให้มีความได้เปรียบในแง่ของการดำเนินงานและทำให้บริษัทสามารถยื่นข้อเสนอที่จูงใจได้มากกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ในส่วนของแหล่ง เอราวัณ เราก็มองว่ามีความเป็นไปได้มากที่ กลุ่ม Chevron จะเป็นผู้ชนะไป เพราะ Chevron เองก็เป็นผู้ดำเนินการเดิมอยู่ในแหล่งดังกล่าว”บล.เคทีบี ระบุ