HoonSmart.com>> กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงประเด็น “คนไทยโดนปล้น ค่ากลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 เท่า” โต้ “กรณ์ จาติกวณิช”
กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) (กลุ่มโรงกลั่นฯ) ชี้แจงว่า ตามที่ คุณกรณ์ จาติกวณิช ได้นำเสนอประเด็น “คนไทยโดนปล้น ค่ากลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 เท่า” ผ่านสื่อมวลชนหลายแห่ง มาตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2565 โดยมีประเด็นหลักคือ ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น 10 เท่า จาก 0.87-0.88 บาท/ลิตร ในเดือนมิถุนายนปี 2563 และ ปี 2564 เพิ่มเป็น 8.56 บาท/ลิตร ในเดือนมิถุนายน ปี 2565 พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน 3 แนวทาง 1. กำหนดเพดานการกลั่น 2. เก็บภาษีลาภลอย (windfall tax) 3. จริงจังกับมาตรการประหยัดการใช้พลังงาน
ทั้งนี้ กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ข้อมูลที่คุณกรณ์นำเสนอเป็นการเลือกข้อมูลบางส่วนขึ้นมา เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด โดยค่าการกลั่นที่คุณกรณ์ยกมานั้น ไม่ใช่ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับ (Market GRM) และยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากนี้ ข้อมูลที่เลือกมาเป็นฐานในการเปรียบเทียบ เป็นข้อมูลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 (2563-2564) ซึ่งค่าการกลั่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากๆ เมื่อนำมาเปรียบเทียบ จะทำให้เข้าใจผิดว่าค่าการกลั่นในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติ หากนำข้อมูลค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับจริง ในช่วงสถานการณ์ก่อนโควิด-19 ในปี 2561-2562 มาเปรียบเทียบ พบว่า ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 สูงขึ้นเพียงประมาณ 0.47 บาทต่อลิตร จากช่วงสถานการณ์ปกติเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สูงถึง 10 เท่าและสูงถึง 8 บาทต่อลิตร อย่างที่กล่าวอ้าง (ตามตารางด้านล่าง)
ประเด็นที่ 2 ต้นทุนการกลั่นไม่ได้คงที่ แต่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าพรีเมียม ของน้ำมันดิบ (ราคาส่วนเพิ่มของน้ำมันดิบที่กลั่นเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง) ค่าขนส่งน้ำมัน ค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เป็นต้น รวมถึงค่าแรงที่มีการปรับขึ้นอย่างเป็นประจำ และการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงชนิดและมาตรฐานคุณภาพของน้ำมัน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการปฏิบัติการในโรงกลั่น ความปลอดภัย เป็นต้น
ประเด็นที่ 3 โรงกลั่นไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ เนื่องจากค่าการกลั่นเป็นผลลัพธ์จากราคาเฉลี่ยของน้ำมันที่ขายจริงทุกชนิดตามสัดส่วนการผลิต หักด้วยราคาน้ำมันดิบที่ซื้อจริง ซึ่งรวมค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เช่น ค่าขนส่ง และค่าประกันภัย รวมถึงต้องหักค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เช่น ค่าความร้อน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสูญเสีย เป็นต้น โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงตาม
ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวมถึงสต๊อกน้ำมัน และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมีประชาชนส่วนมาก ยังมีความเข้าใจผิดเรื่อง “ค่าการกลั่นน้ำมันที่สูงขึ้น” กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ได้จัดทำ Infographic เพื่อสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ได้โดยสะดวก (ตามเอกสารแนบ) ในประเด็นต่อไปนี้
1. กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ไม่ได้เป็นผู้กำหนดค่าการกลั่นน้ำมัน ค่าการกลั่นน้ำมันขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากสถานการณ์ของโลกขณะนั้น
2. ค่าการกลั่นน้ำมันไม่ใช่กำไรของโรงกลั่น เนื่องจากโรงกลั่นมีค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ หลายรายการที่ต้องหักออกก่อน ส่วนที่เหลือจากนั้นจึงเป็นกำไรก่อนหักภาษีของโรงกลั่น
อ่านบทความอื่นๆ