HoonSmart.com>> 3 ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ปิดร่วงหนัก ดาวโจนส์ดิ่ง 741 จุด -2.42% แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่าหนึ่งปี ด้านดัชนี S&P 500 -3.25% Nasdaq -4.08% นักลงทุนวิตกเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ ฉุดเศรษฐกิจถดถอย ด้านธนาคารกลางอังกฤษ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% สูงสุดรอบ 13 ปี ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 16 มิถุนายน 2565 ปิดที่ 29,927.07 จุด ร่วงลง 741.46 จุด หรือ -2.42% เป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่าหนึ่งปี นักลงทุนวิตกว่าการดำเนินนโยบายการเงินในเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพื่อคุมเงินเฟ้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,666.77 จุด ลดลง 123.22 จุด หรือ -3.25% ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,646.10 จุด ร่วงลง 453.06 จุด หรือ -4.08%
ทั้งดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ร่วงลงสู่ตลาดหมีลึกลงไปอีกหลังจากลดลงประมาณ 24% และ 34% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันที่5 มกราคม 19% และแม้ว่าระดับ 30,000 จุดไม่ใช่ระดับทางเทคนิค แต่ก็เป็นระดับที่มีผลต่อจิตวิทยานักลงทุน
การปรับลดแนวโน้มการเติบโตลงและการดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป ทำให้กังวลว่ากรอบเวลาของเฟดที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวช้าๆหรือ soft landing เกือบจะผ่านหรือผ่านไปแล้ว และการคาดการณ์ GDP ในปีนี้ ปี 2566 และ 2567 ของเฟดที่ยังเป็นบวก นักลงทุนมองว่าอาจจะมองโลกดีเกินไป
แมทธิว ลูซเซตติ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Deutsche Bank ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แถลงการณ์ของเฟดตัดการพูดถึงการรักษาตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งเนื่องจากคุมเงินเฟ้อได้ แต่คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5% ดังนั้นยังคงประเมินว่าเฟดจะต้องดำเนินการอย่างแข็งขันมากกว่าที่ส่งสัญญาณในการประชุมวันพุธ และความเข้มงวดนี้จะทำให้เกิดภาวะถดถอยในปี 2566 ซึ่งจะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ความเชื่อมั่นของตลาดยังลดลงเพราะวิตกว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากธนาคารกลางทั่วโลกใช้ท่าทีเชิงนโยบายแข็งกร้าวมากขึ้น โดยได้พากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ
โมฮัมเหม็ด เอล-เอเรียน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ Allianz ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า ธนาคารกลางทั่วโลกที่กำลังต่อสู้กับเงินเฟ้อนั้นถือว่าเป็นการตื่นตัวครั้งใหญ่
ในการประชุมเมื่อวานนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% สูงสุดในรอบ 13 ปี และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้ง 5 ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ -0.25% จากระดับ -0.75% เป็นการขึ้นครั้งแรกในรอบ 15 ปี
ข้อมูลที่ออกมาเมื่อวันพฤหัสบดีบ่งชี้มากขึ้นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมาก โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเดือนพฤษภาคมลดลง 14.4% มาที่ 1.549 ล้านยูนิต ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2021 ด้านเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย รายงานดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกเดือนมิถุนายนลดลงสู่ระดับ -3.3 เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีลดลงอย่างหนัก โดยหุ้นแอมะซอน ลดลง 3.7% หุ้นแอปเปิล ลดลง 3.9
หุ้นที่เป็นธุรกิจสินค้าที่มีความจำเป็นกับชีวิตและมีผลการดำเนินงานที่ดีในภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังซื้อขายในแดนบวก โดยหุ้นพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิลและหุ้นวอลมาร์ทปิดบวกเล็กน้อย 0.6% และ1.0%ตามลำดับ
หุ้นกลุ่มสายการบินและธุรกิจเรือสำราญลดลงมาก โดยหุ้นยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ลดลง 8.2% หุ้นเดลต้า แอร์ไลน์ลดลง 7.5% หุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ ลดลง 8.6% หุ้นคาร์นิวัล คอร์ป หุ้นรอยัล คาริบเบียน ครูซ ต่างลดลงกว่า 11%
ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นำโดยกลุ่มเทคโนโลยีที่ลดลง 4.7% หลังธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ ทำให้กังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
เมื่อวันพุธที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% ไปที่ระดับ 1.50-1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994
เมื่อวานนี้คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางอังกฤษ( Bank of England)ขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้ง 5 โดยปรับขึ้น 0.25% สู่ระดับ 1.25% ขณะที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ -0.25% จากระดับ -0.75% เป็นการขึ้นครั้งแรกในรอบ 15 ปี
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 402.88 จุด ลดลง 10.22 จุด, -2.47%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,886.24 จุด ลดลง 143.89 จุด, -2.39%,
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,044.98 จุด ลดลง 228.43 จุด, -3.14%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,038.49 จุด ลดลง 446.80 จุด, -3.31%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 2.27 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 117.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือน เพิ่มขึ้น 1.3 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 119.81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล