HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผย 5 เดือนแรกปี 65 “กองทุนรวมไทย” มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 8.1% จากสิ้นปีก่อน ลงมาแตะ 3.9 ล้านล้านบาท (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ไม่รวม ETF, REIT, Infra fund) เงินไหลออกต่อเนื่อง เฉพาะเดือนพ.ค.กว่า 5.6 หมื่นล้านบาท รวมปีนี้ไหลออกสุทธิ 1.6 แสนล้านบาท ด้านผลตอบแทนหลายกลุ่มกองทุนติดลบ หุ้นทั่วโลกติดลบสะสมระดับ 10% ติดตามเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย แนะจัดพอร์ตด้วยความระมัดระวัง
บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย เดือนพ.ค.2565 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.9 ล้านล้านบาท ลดลง 8.1% จากสิ้นปีที่แล้ว (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infra fund) หรือหดตัวลง 4.1% จากไตรมาสแรกของปี อันเนื่องมาจากเม็ดเงินที่ยังไหลออกต่อเนื่อง และผลตอบแทนในหลายกลุ่มกองทุนที่เฉลี่ยติดลบ มูลค่าเงินไหลออกสุทธิเดือนพ.ค. รวมอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท โดยรวมในปีนี้มีเงินไหลออกสุทธิราว 1.6 แสนล้านบาท
ในรอบเดือนพฤษภาคมกลุ่มกองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลออกสูงสุดกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการไหลออกต่อเนื่องจากช่วงต้นปีซึ่งมีผลจากทิศทางดอกเบี้ย กดดันไปที่ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ติดลบ ทำให้ทั้งกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ในประเทศและต่างประเทศมีเงินไหลออกสูง ยกเว้นกลุ่มตราสารหนี้ประเภท term fund ที่ยังมีเงินไหลเข้าสุทธิ โดยรวมแล้วกองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลออกสุทธิสะสมกว่า 1.9 แสนล้านบาท
ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ยังเป็นการปรับตัวลงท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย โดยหลายดัชนีตลาดหลักเช่น จีน สหรัฐฯ ยุโรป หรือหุ้นทั่วโลกยังคงติดลบสะสมระดับ 10% ในขณะที่ SET TR ยังเป็นบวกเล็กน้อย ซึ่งมีส่วนมาจากนโยบายการเงินของไทยที่ยังไม่ปรับดอกเบี้ย และการเปิดประเทศทำให้มีแรงหนุนจากการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดีระดับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เราอาจเห็นการปรับดอกเบี้ยในปีนี้ได้ ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจในระยะถัดไป
จากปัจจัยลบต่าง ๆ นี้เริ่มส่งผลต่อเม็ดเงินกองทุนตราสารทุนมากขึ้น โดยในเดือนที่ผ่านมามีเงินไหลออกสุทธิระดับ 1 พันล้านบาท กลุ่มกองทุนหุ้นจีนเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 1.2 พันล้านบาท แต่เป็นไปทิศทางที่ชะลอตัวลง เช่นเดียวกับกลุ่มหุ้นเวียดนามและหุ้นทั่วโลกที่มีเงินไหลเข้าสุทธิน้อยลงนับตั้งแต่เข้าไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา ในขณะที่กองทุนหุ้นไทยโดยรวมยังมีเงินไหลออกสุทธิ เช่นกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ มีเงินไหลออกสุทธิสะสมเกือบ 2.3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นผลจากเงินไหลออกจากกองทุน LTF เป็นส่วนใหญ่
ด้านกองทุนประหยัดภาษี Super Saving Fund หรือ SSF มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 2.2 พันล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่มูลค่า 1.7 พันล้านบาท อย่างไรก็ดีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิหดตัวลง 3.8% ไปอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท
กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.8 แสนล้านบาท และยังมีเงินไหลออกสุทธิสะสมราว 800 ล้านบาท โดยกลุ่ม RMF-Allocation มีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุด 1.7 พันล้านบาท ขณะที่กลุ่ม RMF-Equity ที่มีเงินไหลเข้าสะสมมากที่สุดที่ระดับ 700 ล้านบาท โดยรวมแล้วในปีนี้มีเงินไหลเข้ากองทุน RMF ช้ากว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีเงินไหลเข้าระดับ 1 พันล้านบาท
กองทุน LTF มีเงินไหลออกต่อเนื่อง แต่ค่อนข้างชะลอลงจากต้นปี โดยในเดือนพ.ค. มีเงินไหลออก 1.4 พันล้านบาท รวมไหลออกสุทธิสะสม 2.0 หมื่นล้านบาท หรือสูงกว่าเงินไหลออกสุทธิของทั้งปี 2021 ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท
ในระยะนี้ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกที่อยู่ระดับสูงในรอบหลายปี ซึ่งจะส่งผลไปยังความเร็วในการปรับดอกเบี้ยของแต่ละประเทศ การจัดพอร์ตการลงทุนควรมีความระมัดระวัง อาจลดความเสี่ยงตามความเหมาะสม คำนึงถึงสภาพคล่องส่วนบุคคล รวมถึงระยะเวลาการลงทุนเป็นสำคัญ ซึ่งหากตลาดมีการปรับตัวลงแรงก็อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ลงทุนระยะยาวได้