HoonSmart.com>> “บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล” คาดไตรมาส 2/65 นี้ ปิดดีลซื้อหนี้เอ็นพีแอล ขยายพอร์ตลูกหนี้โตเฉียด 100% ทันที ด้านลูกหนี้เดิมกลับมาเดินหน้าตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยปกติ หลังคลายล็อคดาวน์เต็มที่ หนุนภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ดันยอดเงินสดรับของบริษัทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มั่นใจปี 65 กำไรโตต่อ แย้มพอร์ตลูกหนี้มีโอกาสโตทะลุ 2.1 พันล้านบาทได้ก่อนเป้าหมายปี 67
นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล (KCC) เปิดเผยในงาน Opportunity Day ถึงทิศทางธุรกิจ AMC ในไตรมาส 2 และตลอดทั้งปี 2565 ยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าภายในไตรมาส 2 ปีนี้ บริษัทจะดำเนินการจัดซื้อหนี้ NPLs จากสถาบันการเงินได้เสร็จสิ้น โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท ภายหลังจากบริษัทได้เงินจากการระดมทุน ด้วยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) จำนวน 592 ล้านบาทและจากการเสนอขายหุ้นกู้ มูลค่า 350 ล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาในมือเกือบ 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย เพื่อขยายพอร์ตลูกหนี้ NPLs ของบริษัท ส่งผลให้เงินลงทุนหรือพอร์ตลูกหนี้ NPLs จะเติบโตขึ้นเกือบเท่าตัวจากสิ้นไตรมาส 1 ปี 65 ที่พอร์ตลูกหนี้ NPLs อยู่ที่ 527.40 ล้านบาท
และในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ บริษัทยังคงมีแผนเดินหน้าซื้อหนี้ NPLs เข้าพอร์ตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าใช้เงินลงทุนซื้อหนี้ NPLs มากกว่า 800 ล้านบาท แม้เป้าหมายกำหนดไว้ว่าสิ้นปี 67 พอร์ตลูกหนี้ของบริษัทจะขยับขึ้นไปอยู่ในระดับที่มากกว่า 2,100 ล้านบาท แต่หากเห็นโอกาสทางธุรกิจเข้ามา บริษัทก็พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
นายทวี กล่าวว่า เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้้ สถาบันการเงินจะยังคงนำลูกหนี้ NPLs ในระบบที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูงออกมาประมูลขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากตัวเลขล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่าสถาบันการเงินทั้งระบบมี NPLs ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 65 อยู่ที่ 531,890 ล้านบาท จึงเป็นโอกาสของธุรกิจบริหารจัดการหนี้ NPLs และธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่ยังคงมี supply หรือปริมาณหนี้ NPLs จากระบบสถาบันการเงินมาให้บริหารจัดการได้อีกมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพอร์ตลงทุน หรือพอร์ตลูกหนี้ NPLs ของบริษัท ทำให้ธุรกิจ AMC ของบริษัทยังคงมีทิศทางหรือแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก
เป้าหมายของบริษัทยังคงเน้นหนี้ NPLs ภาคธุรกิจ หรือ Corporate Loans ในสัดส่วน 70% และหนี้ NPLs สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Housing Loans ในสัดส่วน 30% โดยพิจารณาหลักประกันที่มีคุณภาพและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
“ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของบริษัทในการพิจารณาเลือกซื้อหนี้และการบริหารจัดการหนี้ NPLs ที่เน้นหนี้ภาคธุรกิจ หรือ Corporate Loans หากเห็นโอกาสทางธุรกิจหรือมีหนี้ NPLs ที่สามารถบริหารจัดการและสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ บริษัทก็พร้อมเข้าไปจัดหา เพื่อนำมาบริหารจัดการ เพราะนอกจากมีเงินทุนที่ได้จากการขายหุ้นไอพีโอและออกหุ้นกู้แล้ว บริษัทยังสามารถเพิ่มการกู้ยืมเงินได้อีกมาก เพราะปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทหลังไอพีโออยู่ในอัตราต่ำเพียง 0.58 เท่า เท่านั้น ทำให้ยังสามารถกู้เงินมาขยายพอร์ตได้อีกมากและการเข้าเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบริษัททำได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้ามีอัตราส่วน D/E ได้สูงสุดไม่เกิน 2 เท่าและขณะนี้มีสถาบันการเงินพร้อมสนับสนุนเงินกู้เพื่อให้บริษัทนำมาซื้อหนี้ NPLs ขยายธุรกิจ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่พอร์ตลงทุนหรือพอร์ตลูกหนี้ NPLs จะโตทะลุ 2,100 ล้านบาท ได้ก่อนเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 67” นายทวี กล่าว
นายทวี ยังกล่าวว่า นอกจากนี้หลังรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ ส่งผลให้ลูกหนี้ของบริษัทกลับมาเดินหน้าดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างหนี้กับบริษัทได้มากขึ้น โดยกลับมาชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามแผน หลังจากในช่วงปี 2564 ลูกหนี้บางราย ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ ล็อคดาวน์ได้ขอหยุดชำระเงินต้น โดยแบ่งผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จึงกลับมาดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ได้ ส่งผลให้บริษัทสามารถเก็บเงิน หรือมีเงินสดรับ (Cash Collection) เข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีลูกหนี้บางรายสามารถฟื้นฟูกิจการสำเร็จ กลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ทั้งหมดและปิดบัญชีลูกหนี้กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ปลดล็อคการเป็นลูกหนี้ NPLs เข้าสู่ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ตามปกติ ซึ่งถือว่าบริษัทประสบความสำเร็จในการช่วยฟื้นฟูกิจการ บริหารจัดการหนี้ให้ลูกหนี้ที่มีปัญหากลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อีกครั้ง