HoonSmart.com>>กลุ่มปตท.ประกาศแผนธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว “ไออาร์พีซี” กางเป้า 5 ปี ตั้งงบ 4.13 หมื่นล้านบาท EBITDA 2 หมื่นล้านบาท/ปี คาดร่วมทุน 1-2 ดีล สิ้นไตรมาส 2 แย้มโครงการใหญ่เป็นบจ.สรุปไตรมาส 3 เสริมศักยภาพธุรกิจ การเงินแกร่ง ดอกเบี้ยแค่ 3% ต่อปี ไตรมาส 2 กำไรดีขึ้น ด้าน “OR” โตพร้อมพันธมิตร EBITDA มากกว่า 40,000 ล้านบาทในปี 73 จากงบลงทุน 2 แสนล้านบาท “PTTGC”ถึงเวลาเก็บเกี่ยวเงินลงทุน
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทจะเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรรับกระแสเทรนด์รักษ์โลก ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม Smart Material & Smart Energy ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษที่มีมูลค่าสูง พร้อมรุกตลาดส่วนประกอบอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรองและชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต ตั้งงบลงทุนในช่วงปี 2565-2569 ไว้ที่ 4.13 หมื่นล้านบาทเพื่อรองรับการลงทุนต่างๆ
ส่วนแผนการร่วมทุน คาดปลายไตรมาส 2/2565 น่าจะเห็นผล 1-2 โครงการ ส่วนโครงการที่มีขนาดพอสมควร จะต้องรอดู เพราะการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างค่อนข้างมาก อาจจะต้องเลื่อนไปไตรมาสที่ 3 และเป้าหมายเป็นบริษัทจดทะเบียน(บจ.) จะต้องดูภาวะตลาดหุ้นประกอบด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) ตอนนี้เดินมาได้ครึ่งทางเพิ่มสัดส่วนเป็น 21% คาดปีนี้ทำได้ 24% มีเป้าหมาย 52% ภายในปี 2568
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 คาดว่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาส 1 เนื่องจากปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 2% แนวโน้มส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (สเปรด) เพิ่มขึ้น หลังจากต้นทุนราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมาก บริษัทเริ่มปรับราคาขายตามเล็กน้อย ส่งผลให้แนวโน้ม Market GRM สูงขึ้นกว่าไตรมาส 1 ที่ 7.08 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล นอกจากนั้น ยังมีกำไรสต๊อกน้ำมัน คาดในไตรมาส 2-3 ราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ย 102-105 เหรียญ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 อยู่ที่ 95.6 เหรียญ แม้ว่าจะยังมีผลขาดทุนจากการทำประกันความเสี่ยงบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ได้ส่งผลต่อผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ
แนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของราคาน้ำมันและราคาก๊าซอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีผลต่อราคาขายผลิตภัณฑ์ แต่ยังมีปัจจัยบวกจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโพลิเมอร์ที่กลับมา โดยเฉพาะจากจีน แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในจีนมีผู้ผลิตค่อนข้างมาก บริษัทจำเป็นต้องพัฒนาสินค้าใหม่ๆที่เป็น Specialty แทนสินค้ากลุ่ม Commodity เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ
ในไตรมาส 4 บริษัทจะมีการปิดปรับปรุงโรงงานผลิต 1 แห่ง ทำให้กำลังการผลิตจะหายไปบางส่วน กระทบผลการดำเนินงานบ้าง แต่มองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว และจะไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายระยะยาวในปี 2568 ที่ตั้งเป้า EBITDA สูงขึ้นไปแตะระดับ 2.5 หมื่นล้านบาท
“กลยุทธ์ของ IRPC ยกระดับการใช้พลังงาน โดยในนวัตกรรม มุ่งเน้นใน 2 ธุรกิจหลัก คือวัสดุศาสตร์ และภาคพลังงาน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น มีการคุมค่าใช้จ่าย ในการซ่อมบำรุง ล็อกต้นทุนชิ้นส่วน “นายชวลิตกล่าว
ด้านฐานะการเงิน ถ้ามองแผน 5 ปี ใช้เงินลงทุน 4 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละ 8,000 ล้านบาท ได้ EBITDA 2 หมื่นล้านบาท/ปี ยังมีเงินอีก 1.2 หมื่นล้านบาท สำหรับจ่ายงินต้นเฉลี่ย 1 หมื่นล้านบาท บริหารเงินในระยะยาวเรื่องสภาพคล่องติดขัดมีความเป็นห่วงน้อย บริษัทมีวงเงินเตรียมไว้กับสถาบันการเงิน แต่ยังไม่ได้เบิกเลย
นอกจากนี้พอร์ตเงินกู้ เป็นดอกเบี้ยลอยตัวกับคงที่ สัดส่วน 50% แต่ลอยตัวอิงเงินเงินประจำ ที่แทบจะไม่เคลื่อนไหว ปัจจุบันมีต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ย 3% ต่อปี ส่วนปี 2565-2566 ไม่ถึง 3% ต่ำมาก มีการออกบอนด์ ช่วงสุดท้ายที่ดอกเบี้ยกำลังขึ้นใหญ่ บริษัทมีอันดับเรทติ้ง A- ออกได้ดอกเบี้ยเทียบกับ AA- ส่วนเงินกู้ ดอลลาร์มีสัดส่วน 10% ดอกเบี้ยคงที่แล้ว 2 ปี ดังนั้นแนวโน้มดอกเบี้ยปรับขึ้น จึงไม่กระทบต่อบริษัท ปัจจุบันมีเงินกู้ 63,000 ล้านบาท มีเงินสด 1 หมื่นล้านบาท คงเหลือหนี้ 5 หมื่นล้านบาทถือว่าต่ำมากเทียบกับขนาดของธุรกิจ
IRPC ยังได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษา โดย วิทยาลัยเทคโนโลยี ไออาร์พีซี ร่วมกับบริษัท อรุณพลัส พัฒนาหลักสูตรและสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน EV เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจได้มีโอกาสเข้าฝึกงานในบริษัทด้าน EV ของ กลุ่ม ปตท. ที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว เช่น on-ion EV Charging Station หรือ Swap & Go สถานีบริการเปลี่ยนสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์แบบไม่ต้องรอชาร์จ รวมถึงโรงงานผลิต EV ที่เป็นความร่วมมือระหว่างอรุณพลัส และ Foxconn
ด้านนางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) กล่าวว่า บริษัทจะใช้นโยบายการเติบโตที่สร้างขึ้นจากการร่วมมือกับพันธมิตร (Outside-in Growth) ผ่านศักยภาพของ OR ที่มีอยู่ทั้งทาง Physical คือสถานีบริการน้ำมันประมาณ 2,000 สาขา มีผู้ใช้บริการราว 3.3 ล้านคนต่อวัน ทาง ดิจิทัล อย่างบัตร Bluecard ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ราว 7.5 ล้านราย
นอกจากนั้นในช่วงปลายปีนี้ บริษัทวางแผนเปิดตัว Digital Platform เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น รวมถึงใช้ประโยชน์จาก B2B Network เครือข่ายลูกค้ากว่า 2,600 ราย ทั้งบริษัทเอกชน หน่วยงานภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้
สำหรับเป้าหมายการเติบโตระยะยาว บริษัทเตรียมงบประมาณไว้ประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนตามแผนที่วางไว้ไปจนถึงปี 2573 ซึ่งคาดว่าจะมี EBITDA มากกว่า 40,000 ล้านบาท โดยกว่า 50% จะมาจากการเติบโตร่วมกับพันธมิตร
นายจิตศักดิ์ สุนทรพันธุ์ ผู้จัดการฝ่าย การเงินองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปีนี้น่าจะเป็นไปตามที่คาดไว้ ไตรมาส 1 ผลงานดี แม้ว่าต้นทุนพลังงานสูง แต่มีการเจรจากับลูกค้าได้ ไตรมาส 3 น่าจะดีขึ้น จีนใช้กังหันลม น่าจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของบริษัท และบริษัทพยายามลดต้นทุน 5-10% ตามเป้าหมาย บริหารจัดการมีการต่อยอดธุรกิจ การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เข้าสู่ธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น รวมถึงการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่จะเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ รวมถึงการลงทุนต่างประเทศ
“เรื่อง EV มองเป็นโอกาสมากกว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นตัวประกอบถังรถ ส่วนธุรกิจการเกษตร แผ่นฟิลม์คุมดิน ป้องกันแมลง และโรงเรือน มีการพัฒนาต่อดยอดธุรกิจ ส่วนทิศทางการลงทุน ในปีนี้คาดว่าจะมีงบประมาณ 500 ล้านเหรียญ ไม่รวมงบบำรุงรักษาประจำปี โครการลงทุนส่วนใหญ่เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ปีนี้ที่ลงทุนคือโครงการ รีไซเคิลแพลน ในอนาคตจะลงทุนน้อยลง 300-400 ล้านเหรีญ เพราะการลงทุนใหญ่ 4,000 ล้านบาทถึงเวลาเก็บเกี่ยวสิ่งที่ลงทุนไป และเริ่มลงทุนธุรกิจใหม่
ส่วนผลงานไตรมาส 2 เกิดการขาดทุน แต่มีกำไรจากสต็อก หักกลบแล้ว”นายจิตศักดิ์กล่าว
บริษัทมีแผนการออกหุ้นกู้ให้นักลงทุนทั่วไปเดือนมิ.ย.เป็นผู้สูงอายุ เกิน 60 ปี จองซื้อก่อนวันที่ 22-24 มิ.ย. ส่วนวันที่ 21-29 มิ.ย. สำหรับนักลงทุนทั่วไป ผ่านธนาคารที่จัดจำหน่าย
บริษัท ปตท. (PTT) เปิดเผยว่าบริษัทย่อยคือ บริษัท อัลฟ่าคอม มีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัท พี-ดิกเตอร์ จำกัด (P-Dictor) ด้วยทุนจดทะเบียนประมาณ 54.5 ล้านบาท
เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ สำหรับระบบซ่อมบำรุงเชิงพยากรณ์และการเฝ้าติดตามสภาพเครื่องจักรของโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อช่วยคาดการณ์โอกาสที่จะเกิดความผิดปกติกับเครื่องจักรอุปกรณ์ที่สำคัญของโรงงาน ทำให้สามารถวางแผนการผลิตและการบำรุงรักษาได้อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อการเดินเครื่องการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยให้บริการแก่โรงงานอุตสาหกรรมครอบคลุมทั้งในและนอกกลุ่ม ปตท.