HoonSmart.com>>ครอบครัวปตท.ประกาศผลงานไตรมาสแรกปี 65 ออกมาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามคาด รวม 6 บริษัทมีกำไรสุทธิ 27,573 ล้านบาท ลดลง 8,573 ล้านบาท หรือ -23.7%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มีกำไรลดลง เจอพิษราคาน้ำมันดิบพุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์ กระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบปิโตรเคมี แต่กลับเป็นผลดีต่อ TOP มีกำไรสุทธิ 7,183 ล้านบาท พุ่งขึ้นถึง+113.8% ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 บริษัทส่วนใหญ่ยังต้องเหนื่อยอีกต่อไป
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ (TOP) กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 1/2565 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรขั้นต้นจากการผลิต รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน (Accounting GIM) อยู่ที่ 23.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 10.2 เหรียญสหรัฐฯ และไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 9.9 เหรียญสหรัฐฯ และด้วยปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตอยู่ที่ 303 พันบาร์เรลต่อวัน ทำให้มีรายได้จากการขายและ EBITDA จำนวน114,506 ล้านบาท และ 13,034 ล้านบาท ตามลำดับ
ด้านนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 76,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาจากราคาขายเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ โดยมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 4,105 ล้านบาท หรือ 7.08 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 39%
สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ทั้งน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานและปิโตรเคมี ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ประกอบกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 9,891 ล้านบาท หรือ 17.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 42% ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จำนวน 6,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113% และมีกำไรสุทธิ 1,501 ล้านบาท
แนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 2/2565 คาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน คาดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะยังคงยืดเยื้อและจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น
ส่วนภาวะตลาดปิโตรเคมี คาดว่าความต้องการจะปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ผลิตสินค้าปลายทางเริ่มกลับมาสั่งซื้อเม็ดพลาสติกมากขึ้น คาดว่าราคาวัตถุดิบจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตาม คือ ระดับความรุนแรงของสถานการณ์ความขัดแย้งที่จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบและราคาวัตถุดิบที่อาจปรับเพิ่มมากขึ้นได้ รวมถึงความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามการปรับตัวในการดำเนินชีวิตแบบวิถีใหม่ (New normal) ประกอบกับความต้องการในภาคธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย EV Car จะใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบในปริมาณมากเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่จำนวนมากในปี 2565 ทั้งตามแผนเดิม และที่เลื่อนมาจากปี 2564 โดยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากจีน เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี