โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ. กรุงไทย (KTAM)
Energy คือ 1 ใน 2 เซ็กเตอร์ของดัชนี S&P 500 ที่บวกเมื่อวันศุกร์ (6 พ.ค.) และตั้งแต่ต้นปี (YTD) คู่กันกับ utilities ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่ม defensive ที่นักลงทุนมักไขว่คว้าเวลาเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจขาลง อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทน 2 กลุ่มห่างกันมากโดย 6 พ.ค. energy +2.91%, utilities +0.80% และปีนี้ energy +49.18%, utilities +0.73%
กลุ่มพลังงาน จัดเป็น “หุ้นวัฏจักร” (Cyclical Stocks) มักขึ้นลงตามเศรษฐกิจ แล้วทำไมรอบนี้ถึงทำได้ดีในขาลง?
ประเด็นอยู่ที่ “อุปทาน” (Supply) ผู้ส่งออกพลังงานรายสำคัญของโลกอย่างรัสเซียรุกรานยูเครนยืดเยื้อและโดนชาติตะวันตกคว่ำบาตร ซ้ำเติมปัญหา “ซัพพลายโตไม่ทันดีมานด์” ซึ่งเป็นแนวโน้มใหญ่อยู่แล้วอันเนื่องมาจากความพยายามลดคาร์บอน (decarbonization) จำกัดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล OPEC+ ก็ยังคงแผนเดิมเพิ่มปริมาณผลิตต่ำกว่าเป้าอย่างต่อเนื่อง ด้านอุปสงค์ที่แผ่วลง (ชั่วคราว) เพราะจีนล็อกดาวน์สู้โควิด ก็ได้ปัจจัยบวกชดเชยจากการเปิดเมือง (reopening) ของประเทศอื่นๆส่วนใหญ่
บรรดาบริษัท Oil & Gas มุ่งรักษาวินัยการใช้เงินทุน (Capital Discipline) ตามความประสงค์ของเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น โดยนำกระแสเงินสดจากผลกำไรมหาศาลท่ามกลางสภาวะน้ำมันแพงมา ชำระหนี้ จ่ายปันผล และ ซื้อหุ้นคืน เป็นหลัก นอกจากเสริมความแข็งแกร่งของงบดุลและลดความเสี่ยงแก่ผู้ลงทุนแล้ว กิจกรรมหลังสุด “ซื้อหุ้นคืน” (share buyback) ยังช่วยสร้างการเติบโตของ “กำไรต่อหุ้น” (earnings per share: EPS) เพราะลดจำนวนหุ้นในตลาด P/E ratio จึงต่ำลง เปิดทางให้ราคาหุ้นทะยานต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องแพงขึ้น
“สิ่งจำเป็น” ต้องมาก่อน เมื่อคนอเมริกันยังมีงานทำ (ข้อมูลแรงงานสหรัฐแข็งแกร่ง) แต่ข้าวยากหมากแพง (เงินเฟ้อสูง) รายได้โตไม่ทันราคาสินค้า/บริการ จึงชักหน้าไม่ถึงหลัง (ยอดสินเชื่อบริโภคพุ่ง) ถึงจุดหนึ่งคงต้องชะลอหรือตัดรายจ่ายไม่จำเป็นออกไปก่อน เพื่อสงวนงบประมาณเอาไว้ซื้อหาสิ่งจำเป็นเช่น “พลังงาน” เป็นต้น
เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงขั้นละ 0.5% (อาจเร่งเป็น 0.75%) ตราบที่เศรษฐกิจไม่พัง แม้เงินเฟ้อผ่านจุดพีคแต่ก็คงสูง (มาก) ในช่วงที่เหลือของปี ยีลด์พันธบัตรสหรัฐจึงอาจทะยานต่อเพื่อสะท้อนโอกาสที่จุดสูงสุดของดอกเบี้ยรอบนี้ (terminal rate) จะไปไกลถึง 5-6% ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางค่ายคาดการณ์ไว้
เงินเฟ้อสูง ชอบ P/E ต่ำ เนื่องจากยีลด์พันธบัตรพุ่งกดดัน growth stocks รุนแรงกว่า นักลงทุนจึงหันไปหา value stocks ราคาถูก P/E ต่ำ (ตามมุมมอง “The Great Rotation” 9 ม.ค.) หุ้นกลุ่มพลังงานตอบโจทย์โดย MSCI World Energy Index สิ้น เม.ย. P/E 16.07x (เทียบกับ MSCI World 18.92x) Forward P/E 9.31x (เทียบ MSCI World 16.23x) ถ้าจะหาอะไรถูกกว่า energy เท่าที่รู้ก็มีหุ้นกลุ่ม “โลหะและเหมืองแร่” MSCI World Metals and Mining Index สิ้น เม.ย. P/E, Forward P/E ต่ำมากเพียง 9.27x และ 8.89x ตามลำดับ
OIL is king. ENERGY is its kingdom. หุ้นโลกกลุ่มพลังงานกลับเป็นขาขึ้นมาราวปีครึ่ง หลังตกต่ำยาวนานมาก (2014-2020) และเพิ่ง outperform โดดเด่นเต็มตัวในปีนี้ ภายใต้บริบทใหม่ “เงินเฟ้อสูงยาวนาน” (เข้าทางหุ้น value) “พลังงานขาดแคลน” (ดีมานด์-ซัพพลาย หนุนราคาน้ำมัน) ขณะปัจจัยจบรอบแบบสมัยก่อน “การลงทุนขยายปริมาณผลิตมากไป” ก็ยังไม่มี (บริษัทเน้นจ่ายปันผล/ซื้อหุ้นคืน) ดังนั้น น้ำมันจึงมีสิทธิ์ยึดตำแหน่ง “ราชัน” แห่งสินค้าโภคภัณฑ์ และ ENERGY มีโอกาสครองบัลลังก์หุ้นโลกต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2022
KT-ENERGY (กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เอ็นเนอร์จี ฟันด์) ลงทุนในหน่วยของ BGF World Energy สกุลดอลลาร์สหรัฐ (กองทุนหลัก) เน้นหุ้นของบริษัทชั้นนำทั่วโลกซึ่งมีธุรกิจหลักในการสำรวจ พัฒนา ผลิต และจำหน่ายพลังงาน จึงเหมาะที่จะใช้รับโอกาสและความเสี่ยง (exposure) จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานโลก โดยมี “น้ำมัน” เป็นตัวหลัก ผู้จัดการกองทุนสนใจธุรกิจที่รักษาวินัยค่าใช้จ่ายลงทุน (capex) บริษัทน้ำมันที่สะสมกำไรเพราะได้เปรียบด้วยต้นทุนต่ำ และธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) ซึ่งกำลังเติบโตสูงเพราะถูกมองว่าเป็นสะพานเชื่อมในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานใหม่ เป็นต้น
ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:45 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade, Youtube: KTAM TV ONLINE หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสามช่องทาง นอกจากนี้ดูคลิปย้อนหลังได้ทั้ง Youtube และ Facebook
#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์845
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน