HoonSmart.com>>เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ตามคาด ส่งสัญญาณปรับอีก 2-3 ครั้งๆละ 0.50% รวม 2% เริ่มถอนเงินออกจากระบบมิ.ย. ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยชี้หุ้นโลกเจอสองเด้ง กดดันช่วงสั้น 2-3 เดือน มองหุ้นไทยไม่น่าห่วงใน 1 ปีนี้ หั่นเป้าลงเพียง 50 จุดเหลือ 1,750 จุด โพลล์ดัชนีเชื่อมั่นลดลง ชี้กลุ่มท่องเที่ยวเด่น ปิโตรเคมีฯไม่น่าสน บล.ทิสโก้แนะลดหุ้น ถือเงินสดเพิ่ม ดัชนีไหลลง-8.99 จุด เจอขายทำกำไร หวั่นจีนล็อกดาวน์
วันที่ 5 พ.ค.2565 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เปิดสดใสตามตลาตต่างประเทศ แต่กลับปิดเกือบระดับต่ำสุด 1,643.30 จุด ลดลง 8.99 จุด หรือ -0.54% มูลค่าซื้อขาย 77,457.05 ล้านบาท จากนักลงทุนต่างชาติขาย 180.66 ล้านบาท ส่วนสถาบันไทยซื้อ 178.81 ล้านบาท นักลงทุนไทยซื้อ 37.95 ล้านบาท
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% สู่ระดับ 0.75-1.00% ตามคาด และส่งสัญญาณจะขึ้นอีก 2-3 ครั้งๆละ 0.50% รวม 2% พร้อมกับลดงบดุล เริ่มเดือนมิ.ย. เป็นต้นไป เกือบ 1 แสนเหรียญ ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน สร้างแรงกดดันต่อหุ้นทั่วโลก ในช่วง 2-3 เดือน ทุกคนรอดูผลการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ตลาดมองดอกเบี้ยอยู่ที่ 3-3.25% บางคนคาดถึง 3.5-3.75% ส่วนการถอนสภาพคล่องคาดเฟดต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ในการลดขนาดงบดุลลงสู่ระดับก่อนช่วงโควิด
“ตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Hard Landing) กลางปี 2566 จากสถิติหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 11 รอบ มีเพียง 3 ครั้ง ที่เศรษฐกิจยังฟื้นขึ้นต่อเนื่อง เพราะเงินเฟ้อไม่สูง เทียบกับรอบนี้ เงินเฟ้อ 8.5-9% สูงสุดในรอบ 40 ปี แถมเฟดยังเข้าแก้ไขปัญหาช้าไป จึงมีการโยกย้ายเงินลงทุนออกจากหุ้น ตราสารหนี้เข้ากองทุนตลาดเงิน เป็นสัญญาณว่าตลาดหุ้นจะมีความผันผวนต่อ แต่เม็ดเงินในกองทุนหุ้นยังเหลืออีกมาก ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นหรือเป็นระเบิดเวลา สภาพคล่องที่ยังสูงอยู่ มีการสลับการลงทุนในประเทศและหุ้นต่างๆ ตอนนี้กำไรต่อหุ้นของบจ.สหรัฐ เฉลี่ยยังดี 10% หากเข้าสู่การถดถอย กำไรต่อหุ้นจะติดลบ ทุกรอบ จะต้องติดตามว่าจะติดลบไหม และติดลบนานแค่ไหน”นายไพบูลย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐมีการปรับฐานลงแรงเร็วมาก คาดคงจะลงไม่แรง เพราะมูลค่าหุ้นไม่แพง P/E หุ้นขนาดกลางลงมาเหลือ 13 เท่าต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด บจ.เล็กด้วย ยกเว้นหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐ แนสแด็กที่มูลค่ายังค่อนข้างสูง 20 เท่า จึงมีแรงขายได้อีก ส่วนตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 ปีนี้ ไม่น่าห่วง มูลค่ายังไม่แพง เทรดที่ P/E 16 เท่า และนักลงทุนให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพที่มั่นคงของเศรษฐกิจไทย ไม่สนใจเรื่องเติบโต ซึ่งปีนี้จะโตไม่ถึง 3% ลดลงจากเป้าเดิม 3.6% และมีการปรับลดประมาณการดัชนีปีนี้จาก 1,800 จุดเป็น 1,750 จุด กำไรบจ.เติบโตดีจากกลุ่มพลังงาน แต่นักลงทุนจะต้องเลือกหุ้นและจังหวะในการลงทุน
“แม้หุ้นมีความเสี่ยงสูงขึ้น เศรษฐกิจยังแข็งแรง มองแค่ปีนี้ ยังแนะนำให้ซื้อได้อยู่ หุ้นไม่น่าลงแรง เพราะมีความหวังเรื่องการท่องเที่ยวฟื้นตัวดี ส่วนตราสารหนี้ หากดอกเบี้ยยังขึ้นขนาดนี้ ยังมีโอกาสที่จะลงได้อีก ถือระยะสั้นๆ ได้ ทองคำยังควรมีไว้บ้าง เพราะสงครามยืดเยื้อ”นายไพบูลย์กล่าว
ส่วนผลสำรวจในเดือนเม.ย. 2565 ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.42 ลดลง 19.1% จากเดือนก่อนหน้า และยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ มองการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รองลงมาคือนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และการเก็บภาษีจากการขายหุ้น ทั้งนี้หุ้นที่น่าสนใจมากที่สุดคือกลุ่มท่องเที่ยว สวนไม่น่าสนใจคือ ปิโตรเคมีและเหล็ก
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ กล่าวว่า เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแรงรอบ 20 ปี มีแนวโน้มจะขึ้น มากกว่า 0.25% พร้อมกับการเริ่มต้นลดขนาดงบดุล ลงเดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) จะเริ่มส่งสัญญาณยุติมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมเดือนมิ.ย. และเตรียมส่งสัญญาณเตรียมตัวขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่ตลาดมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ ECB จะเกิดขึ้นในเดือนก.ย. ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Rate จะอยู่ที่ระดับ 0%
สำหรับธนาคารอังกฤษขึ้นดอกเบี้ยมา 3 ครั้งแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเร่งเร็วขึ้น ดังนั้นในปีนี้จะมีเพียงธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางจีน (PBOC) เท่านั้นที่ยังมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากยังไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมากนัก
“นโยบายการเร่งขึ้นดอกเบี้ย คาดจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นมากขึ้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตรากำไรของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามในระยะถัดไป จึงแนะนำลดลงทุนหุ้นลงและถือเงินสดเพิ่มขึ้นบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยง โดยมองตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนมากขึ้นตามหุ้นโลก จากปัจจัยกดดันต่างประเทศที่เป็นลบรอบด้าน ทั้งสงคราม การล็อกดาวน์ในจีน”
สำหรับหุ้นที่แนะนำในเดือนพ.ค.จะเน้นหุ้นที่คาดว่างบจะออกมาดี ยังคงเน้นธีมหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการทยอยเปิดเศรษฐกิจ แนะนำ BEM, CENTEL หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อน แนะนำ GFPT และ MEGA และหุ้นที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัวเด่น คือ JMT คาดว่าจะได้เข้าคำนวณในดัชนี MSCI และ SET50 และหุ้น STANLY ที่คาดว่าจะประกาศงบปีพร้อมจ่ายปันผลสูง
“หุ้นเด่นที่บล.ทิสโก้แนะนำในเดือนพ.ค. คือ BEM, CENTEL, GFPT, JMT, MEGA และ STANLY ด้านแนวรับสำคัญของดัชนีหุ้นไทยเดือนนี้อยู่ที่ 1,655 จุด และแนวรับต่อไปที่ 1,620 – 1,630 จุด และแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,680 – 1,685 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,695 – 1,700 จุด ตามลำดับ” นายอภิชาติ กล่าว