ครั้งที่แล้ว พูดถึงการลงทุนในตราสารหนี้ไป และได้พูดถึงตราสารหนี้ที่มีความซับซ้อนอย่างเช่น หุ้นกู้แบบ perpetual bond หุ้นกู้ที่ไม่มีอายุ ก็พอดีเจอคนแบงค์มาชวนให้ลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT) ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงมาก คือ 5.85%/ปี ใน 5 ปีแรก และให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นเรื่อยๆ (ขอรายละเอียดได้จากแบงค์ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย)
ตอนแรกก็งง ทำไม MINT ถึงให้ดอกเบี้ยสูงขนาดนี้ ถ้าใครไม่รู้จัก MINT ก็นึกถึง Dairy Queen, Swensens, Sizzler, the Pizza Company, ฯลฯ และเชนโรงแรมต่างๆมากมาย เช่น Anantara, Avani, ฯลฯ แต่เมื่อดูรายละเอียด ก็เลยเข้าใจเหตุผลว่าทำไม MINT ต้องให้ดอกเบี้ยแพง
เหตุผลก็เพราะ หุ้นกู้ MINT งวดนี้เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัทหรือเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไปหรือตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดและมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ หรือที่เรียกว่า perpetual bond ที่คุยกันเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้นเอง
Perpetual Bond เป็นตราสารหนี้ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไปมาก เพราะมีลักษณะและความเสี่ยงที่มากกว่าตราสารหนี้ทั่วไป ลักษณะโดยทั่วไปของ Perpetual Bond จะเป็นดังนี้
1.ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท: คือ จะไม่กำหนดวันไถ่ถอนไว้ พูดง่ายๆ คือ จะไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท แปลว่าอาจมีอายุยาวนานถึงร้อยปีก็ได้ นักลงทุนจึงมีความเสี่ยงที่อาจจะได้รับเงินต้นคืนช้ามากๆ เทียบกับตราสารหนี้ทั่วไปจะกำหนดเวลาไถ่ถอนที่ชัดเจน
2.ผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด Perpetual Bond ส่วนใหญ่จึงกำหนดให้ผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด (Call option) อย่างเช่น กรณีของ MINT ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป หรือตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ได้แก่
(1) เมื่อผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถนำดอกเบี้ยที่ชำระให้แก่ผู้ลงทุนมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งจำนวน หรือ (2) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในวิธีการจัดอันดับของหุ้นกู้โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้สามารถนับหุ้นกู้ที่ออกนี้เป็นเครดิตตราสารทุนหรือเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น ได้น้อยลงหรือไม่สามารถนับได้เลย หรือ (3) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในหลักการทางบัญชีที่ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้สามารถนับหุ้นกู้ที่ออกนี้เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นได้น้อยลงกว่า ณ วันออก เงื่อนไขข้อนี้ ทำให้ผู้ออกก็มีแรงจูงใจในการไถ่ถอนก่อนกำหนด เนื่องจากข้อกำหนดทางบัญชีจะถือว่าเงินทุนที่ได้จากการออก Perpetual Bond สามารถนับเป็นทุนได้ (ไม่ใช่หนี้สิน) ในช่วง 5 ปีแรก แต่หลังจากนั้นจะถูกนับเป็นหนี้ บริษัทส่วนใหญ่จึงมักจะไถ่ถอน Perpetual Bond เมื่ออายุครบ 5 ปีเพื่อมิให้อัตราส่วน Debt to equity (DE ratio) เด้งสูงขึ้น อย่างไรก็ตามในทางกฎหมายบริษัทไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องไถ่ถอนก่อนกำหนด เราจึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะได้รับเงินต้นคืนช้าวไว้ด้วย
3.Perpetual Bond สามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยได้โดยไม่มีเงื่อนไขแม้ว่าบริษัทจะมีกำไรก็ตาม แต่เมื่อจ่ายดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ค้างจ่ายทั้งหมดด้วย แต่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยของดอกเบี้ยที่ค้างจ่าย ดังนั้นยิ่งเลื่อนการชำระดอกเบี้ยนานเท่าไหร่ ผลตอบแทนเฉลี่ยของการลงทุนที่เราจะได้ก็ยิ่งต่ำลงมากเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนออก perpetual bond จะเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้ตามใจซักทีเดียว เพราะจะมีเงื่อนไขในการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยเหมือนกัน เช่น หากบริษัทจะเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย บริษัทจะจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นไม่ได้ และการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยอาจทำให้บริษัทเสียชื่อเสียงได้ ดังนั้นถ้าบริษัทไม่มีปัญหาจริงๆก็น่าจะจ่ายดอกเบี้ยตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ปกติตราสารหนี้ทั่วไปจะต้องจ่ายดอกเบี้ยตรงเวลาที่กำหนดไว้เสมอ
4.Perpetual Bonds ส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิ: หมายความว่าหากบริษัทเจ๊ง คนถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิจะมีสิทธิเรียกร้องทางกฎหมายในการชำระหนี้คืนเป็นลำดับที่ 3 หลังจาก ผู้ถือตราสารหนี้มีประกัน (Secured Bonds) และผู้ถือตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bonds) ดังนั้นผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิอาจได้รับการชำระคืนเต็มจำนวน หรือบางส่วน หากบริษัทไม่มีทรัพย์สินเหลือเลย ผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิก็จะไม่ได้รับคืนเลยผู้ถือ Perpetual Bonds จึงมีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับเงินคืนสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป
จากลักษณะดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่า Perpetual Bonds มีความเสี่ยงมากกว่าตราสารหนี้ทั่วไปในหลายๆด้าน จึงไม่น่าแปลกใจที่จะต้องให้ดอกเบี้ยมากกว่าตราสารหนี้ปกติ แต่เราในฐานะผู้ลงทุนจึงควรเข้าใจถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้น เพื่อจะได้พิจารณาว่าดอกเบี้ยที่ได้คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ได้รับหรือไม่