ดาวโจนส์ปิดทรุด 981 จุด วิตกเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.50%

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งแรง ดัชนีดาวโจนส์ร่วง 981 จุด กว่า 2.82% ทรุดตัวลงแรงมากสุดภายในวันเดียวนับแต่มีการระบาดใหญ่ นักลงทุนเทขายหุ้นวิตกแนวโน้มดอกเบี้ยจะขึ้น 0.50% ด้านบริษัทจดทะเบียนรายงานผลประกอบการ Q1/65 ต่ำกว่าคาด บอนด์ยีลด์อ่อนตัวลงแตะ 2.9% ดัชนี S&P 500 -2.77% , Nasdaq -2.55% ราคาน้ำมันดิบลดลงกว่า 1% ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดลบกังวลเฟด จับตาเลือกตั้งในฝรั่งเศส

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 22 เมษายน 2565 ปิดที่ 33,811.40 จุด ลดลง 981.36 จุด หรือ 2.82% เป็นการลดลงมากสุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่การระบาดใหญ่ ท่ามกลางการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นทำให้มีการขายหุ้นออกจำนวนมาก

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,271.78 จุด ลดลง 121.88 จุด, -2.77%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,839.29 จุด ลดลง 335.36 จุด, -2.55%

หุ้นยูไนเต็ดเฮลธ์ลดลงกว่า 3% ส่งผลต่อดัชนีดาวโจนส์ถึงกว่า 100 จุด หุ้นแคทเธอพิลาร์ที่ลดลง 6.6% ยังถ่วงดัชนีดาวโจนส์เกือบ 100 จุด รวมทั้งการลดลงของหุ้นโกลด์แมนแซคส์ หุ้นโฮมดีโป และหุ้นวีซ่าต่างฉุดดัชนีลง

ซึ่งส่งผลให้ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 1.9% เป็นการลดลงติดต่อกันสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกัน ส่วนดัชนี S&P 500 ลดลง 2.8% เป็นการลดลงตลอดสัปดาห์ครั้งที่สาม และดัชนี Nasdaq ลดลง 3.8%

บริษัทที่รายงานผลประกอบการรายไตรมาสต่ำกว่าคาด มีผลให้ตลาดตกต่ำ โดยหุ้น HCA Healthcare ลดลง 21.8% จากการรายงานผลประกอบการและคาดการณ์แนวโน้มรายได้ตลอดทั้งปีที่อ่อนแอและส่งผลให้หุ้นอื่นในกลุ่มสุขภาพลดลง หุ้นIntuitive Surgical และหุ้นUniversal Health Services ต่างลดลง 14.3%

หุ้นDaVita ลดลงเกือบ 9.2% และ หุ้นDexCom ลดลง 6.7%

หุ้น Verizon ลดลง 5.6% หลังรายงานยอดสมาชิกโทรศัพท์รายเดือน ลดลง 36,000 รายในไตรมาสแรก

แซม สโตวัล หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนของ CFRA Research กล่าวกับ CNBC ว่า แนวโน้มที่ธนาคารกลาง (เฟด)จะปรับอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่ออัตราเงินเฟ้อ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 ยังคงส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและความกังวลของนักลงทุน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีอ่อนตัวลงมาที่ 2.9%

รอสส์ เมย์ฟิลด์ นักวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนของ Baird กล่าวว่า แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดและผลตอบแทนพันธบัตรมีผลต่อตลาดอีกครั้ง ไม่มีอะไรใหม่เป็นพิเศษแต่เป็นการเตือนใจรอบใหม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการแนวนโยบาย

เจมี ค็อกซ์ Managing Partner ของ Harris Financial Group ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ตลาดวิตกอย่างมากเกี่ยวกับแนวโน้มที่จะเกิดข้อผิดพลาดด้านนโยบายโดยธนาคารกลางสหรัฐ เมื่อเจ้าหน้าที่ของ Fed ส่งสัญญานการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ตลาดก็เริ่มที่มองไปที่การขึ้นดอกเบี้ย 0.75%

แต่นางลอเร็ตต้า เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ CNBC เกี่ยวกับโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในรายการ “Closing Bell” ว่า “ไม่จำเป็นต้องไปถึงจุดนั้น” และกล่าวว่าเธอสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพฤษภาคม

เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 55.1 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 57.7 ในเดือนมี.ค.

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปิดลบตามตลาดหุ้นสหรัฐฯที่ปิดลบในวันพฤหัสบดี นำโดยกลุ่มเหมืองแร่ที่ลดลง 3.6% หลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลาง (เฟด) ส่งสัญญาณการปรับเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ท่ามกลางการรายงานผลการดำเนินงาน

หุ้น Kering แบรนด์หรูในฝรั่งเศส ลดลงกว่า 4% จากความกังวลเกี่ยวกับยอดขายในจีนที่มีนโยบายปลอดโควิด

SAP รายงานผลประกอบการที่แสดงผลกระทบการถอนตัวออกจากรัสเซีย กระทบรายได้ประมาณ 300 ล้านยูโร (325 ล้านดอลลาร์)

นักลงทุนยังจับตาการเลือกตั้งในฝรั่งเศส

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 453.31 จุด ลดลง 8.26 จุด หรือ -1.79%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,521.68จุด ลดลง 106.27 จุดหรือ -1.39%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,581.42 จุด ลดลง 133.68 จุด หรือ -1.99%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,142.09 จุด ลดลง 360.32 จุด หรือ -2.48%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคมลดลง 1.72 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 102.07 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนมิถุนายนลดลง 1.68 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 106.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล