‘เซ็นทรัลพัฒนา”เปิดโลกธุรกิจกว้างขึ้น ทุ่ม 2 หมื่นล้านบาทเทกโอเวอร์ GLAND คว้า”เมกะโปรเจ็ค” ใหญ่ที่สุดแห่งเดียวในกรุงเทพ สร้างอาณาจักรใหม่ทำเลทองพระราม 9 บนเนื้อที่กว่า 37 ไร่ ศูนย์กลางความบันเทิงและการใช้ชีวิตทันสมัยแบบครบวงจร CPN ไม่ต้องเพิ่มทุน มีศักยภาพกู้เงินมาลงทุนร่วม 3 หมื่นล้านบาท
นายโยธิน บุญดีเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ (GLAND) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 ราย คือ1.บริษัท เจริญกฤษ เอ็นเตอร์ไพร้ส์ 2. บริษัท เบ็ล พาร์ค เรสซิเดนซ์ 3.นายเจตรศิริ บุญดีเจริญ 4.นางสาวรมณี บุญดีเจริญ และ 5.นายเจตรมงคล บุญดีเจริญ ว่า ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นรวมทั้งสิ้น 3,278,132,406 หุ้น คิดเป็น 50.43% ของหุ้นทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 3.10 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,162 ล้านบาท ให้แก่บริษัทย่อยของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นที่ทั้งหมด(เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ และ CPN อยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับการเพิกถอน GLAND ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป
ทั้งนี้การซื้อขายหุ้นได้ทำรายการบิ๊กล็อตในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561
ส่วนหุ้น GLAND ที่เหลืออยู่จำนวน 3,221,697,255 หุ้นคิดเป็น 49.57% กลุ่ม CPN จะต้องใช้เงินในการรับซื้อทั่วไปเป็นเงินประมาณ 9,987 ล้านบาท เมื่อรวมการซื้อหุ้นจากรายใหญ่ ต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 20,149 ล้านบาท
การลงทุนครั้งใหญ่ของ CPN ครั้งนี้ ทำให้ธุรกิจของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนากว้างกว่าปัจจุบันเพราะ GLAND เดิมชื่อ บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ภายใต้การถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มเจริญกฤษและกลุ่มรัตนรักษ์(ทีวีช่อง7) ปัจจุบันมีทรัพย์สินมูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านบาท เป็นอาณาจักรของธุรกิจแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานคร (CBD)บนเนื้อที่ 73 ไร่ใจกลางถนนพระราม 9 ตัดกับถนนรัชดาภิเษก ในการพัฒนาโครงการ เดอะ แกรนด์ พระราม 9 นับเป็นโครงการ “เมกะโปรเจ็คท์” ที่ใหญ่ที่สุดเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วย เดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์,จี ทาวเวอร์,เดอะ ไนน์ ทาวเวอร์ส,เดอะ ช็อปปส์ แกรนด์ พระราม9,ยูนิลีเวอร์ เฮ้าส์, เซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม9,เบ็ล แกรนด์ พระราม9,โรงแรมนิวเวิลด์ แกรนด์ พระราม9 นอกจากนี้ GLAND ยังมีการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ แกรนด์ คาแนล ดอนเมือง และคอนโดมิเนียมด้วย
บล.ฟินันเซีย ไซรัส วิเคราะห์ ว่า ดีลนี้ CPN ยังจำเป็นต้องเพิ่มทุนจดทะเบียน เนื่องจากมีศักยภาพในการกู้เงินมาลงทุนมากถึง 3 หมื่นล้านบาท