HoonSmart.com>> สดๆร้อนๆ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 มี.ค.2565) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.)เพิ่งมีมติอนุมัติการออกหลักเกณฑ์มากำกับดูแลการทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของสถาบันการเงิน หนึ่งในนั้นคือการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจของทั้งเครือ ไม่ว่าธนาคารใดจะปรับโครงสร้างองค์กรเป็นโฮลดิ้งส์แล้ว ก็ไม่สามารถหลบเลี่ยงไปได้ เชื่อว่าหากนำเกณฑ์มาใช้ จะมีผลต่อแผนการขยายธุรกิจรวมถึงการเติบโตของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ (Bitkub) ภายใต้ยานแม่ SCBX ในอนาคต..
นับถอยหลัง เหลือเวลาเพียง 10 วัน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดยบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) จะถึงกำหนดเคาะดีลซื้อขายหุ้น บริษัท บิทคับ ออนไลน์ (Bitkub) สัดส่วน 51% ของทุนชำระแล้ว เชื่อว่าทางการคงไม่ขัด เพราะมีฐานทุนขนาดใหญ่เทียบกับมูลค่าของดีล แต่ธุรกิจ”สินทรัพย์ดิจิทัล”มีความเสี่ยงสูง และธนาคารกลางหลายประเทศยังไม่ยอมรับ ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงไม่ปล่อยให้สถานการณ์นี้ผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ ต้องทำหน้าที่ดูแลปกป้องความเสี่ยงต่อระบบการเงิน ซึ่งมติของกนส. หนึ่งในคณะกรรมการหลักของ ธปท.ซึ่งรับผิดชอบด้านการกำหนดนโยบายระบบสถาบันการเงิน ก็เป็นทางออกที่ดี แต่การจะบังคับใช้หลักเกณฑ์ใด ต้องผ่านกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็น(เฮียริ่ง) ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก่อน
ส่วนเรื่องราคาซื้อขายหุ้นบิทคับฯ ทุกสายต่างจับจ้องว่าจะจบลงที่เท่าไร มูลค่ารวมที่ประมาณ 17,850 ล้านบาท ที่คาดไว้ก่อนทำ Due Diligence ยังเหมาะสมอีกหรือไม่ ท่ามกลางกระแส ” สูงเกินไป”ภายใต้สถานการณ์ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเปรียบเทียบกับปลายปี 2564 ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2564 คณะกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ มีมติให้เข้าลงทุนในบิทคับฯ ที่มีมูลค่ากิจการรวม 35,000 ล้านบาท หนึ่งในข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อบริษัทที่มีแพลตฟอร์มศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับหนึ่งของประเทศไทย มาจากผลการดำเนินงานงวดล่าสุด 9 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการซื้อขายรวมประมาณ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดหรือมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 92% ก่อให้เกิดรายได้รวม 3,279 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,533 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิเพียง 79.91 ล้านบาท แถมปี 2562 ยังมีขาดทุนสุทธิ 14.52 ล้านบาท หวังว่าธุรกิจยังคงไปได้สวยอีกนาน
แต่สมมุติฐานไม่ถูกต้อง บิทคับจะรักษามาร์เก็ตแชร์ 92% ได้อย่างไร หลังจาก”คู่แข่งที่แข็งแกร่ง”จะกระโจนเข้ามาแย่งเค้กก้อนอร่อยเร็วขนาดนี้ และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัจจัยเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาเหรียญต่างๆรูดลงหนัก นักลงทุนขยาดจะเข้ามาเก็งกำไร เห็นได้ชัดเจนจากวอลุ่มซื้อขายลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกระแสการเก็บภาษีของไทย ยังผลักดันให้แห่ไปเปิดบัญชีเทรดในต่างประเทศ โดยรวมแล้วมูลค่าตลาดเล็กลงไปมาก
ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานว่า ณ เดือนก.พ.2565 มีบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด 2,594,089 บัญชี แต่บัญชีที่มีความเคลื่อนไหว(active) ของบุคคลในประเทศลดลงถึง 28% เทียบกับเดือนม.ค.2565
เกมส์การแข่งขันยังไม่เริ่มต้น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ผู้นำในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่งบริษัทย่อย บริษัท กัลฟ์ อินโนวา เซ็นสัญญาร่วมทุนกับกลุ่ม Binance ที่มีปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมากที่สุดของโลก พัฒนาทำธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย เชื่อว่าคงจะได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานก.ล.ต.ภายในปี 2565 คงจะสร้างแรงกดดันให้กับบิทคับฯไม่มากก็น้อย เพราะ Binance มีจุดเด่นน่าจะโดนใจนักลงทุนไทยมากกว่า ทั้งมีสินค้าให้เลือกมากมาย และที่สำคัญค่าบริการยังถูกกว่า
อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า กลุ่มไทยพาณิชย์จะซื้อหุ้นบิทคับ 51% หรือไม่ และในราคาเท่าไร รวมถึงยุทธศาสตร์ในการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงสร้างระบบนิเวศทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัล จนนำไปสู่การเสนอขายหุ้น IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการเพิ่มมาร์เก็ตแคป 1 ล้านล้านบาท และฐานลูกค้า 200 ล้านราย ภายใน 5 ปี สำเร็จหรือไม่ ความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นจะสะท้อนไปยังราคาหุ้น SCB ซึ่งครั้งหนึ่งตลาดเคยให้สูงกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชีมาแล้ว