BGRIM ยังไม่ฟันธงขาดทุน Q1/65 ยอมรับราคาก๊าซพุ่ง กระทบมาร์จิ้น

HoonSmart.com>>นักวิเคราะห์คาด”บี.กริม เพาเวอร์”มีโอกาสขาดทุนในไตรมาส 1/65 ด้าน “นพเดช กรรณสูต” CFO เผยยังไม่สรุป บริษัทขอประเมินหลายปัจจัย และบริหารจัดการ หารายได้เพิ่ม ยอมรับว่าราคาก๊าซที่พุ่งขึ้นมากกระทบมาร์จิ้น ขายลูกค้าอุตสาหกรรม 23% ยันเป็นปํญหาระยะสั้นเท่านั้น ปีนี้ปิดดีลซื้อกิจการต่างประเทศ เปิด COD รวม 700 เมกะวัต ส่วนการนำเข้า LNG เริ่มรอบแรก 5 แสนตันต้นปี 66 ใช้โรงไฟฟ้าของกลุ่ม  ลดต้นทุน 5-10% 

นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่า บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) จะมีโอกาสขาดทุนจากการดำเนินงานในไตรมาส 1/2565 เนื่องจากราคาก๊าซพิ่มขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่ารายได้ สำหรับโรงไฟฟ้ารายเล็ก SPP ซึ่งไม่สามารถผลักภาระต้นทุนไปให้ลูกค้าอุตสาหกรรมได้ แตกต่างกับผู้ผลิตไฟฟ้า IPP เช่น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่ขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระแทน

นพเดช กรรณสูต

ด้านนายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริการการเงินและบัญชี บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่สรุปว่าผลประกอบการไตรมาส 1/2565 จะมีผลขาดทุนหรือไม่ ยังประเมินอยู่ โดยดูหลายปัจจัย และอยู่ระหว่างการบริหารจัดการ เช่น การหารายได้เพิ่มขึ้น แต่ยอมรับว่า ได้รับผลกระทบจากต้นทุนก๊าซที่เพิ่มขึ้น ทำให้มาร์จิ้นลดลง โดยเฉพาะในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม ที่มีสัดส่วนการจำหน่ายประมาณ 23% ที่มีการทำสัญญาไว้ในระยะยาว ขณะที่อีก 75% จำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะไม่ได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกันความต้องการใช้ไฟฟ้ากลับมาเติบโต 3-5% เมื่อเทียบก่อนช่วงเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ รวมไปถึงกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ ก็มีการติดต่อบริษัทเข้ามา

” เรามีเป้าหมายในการส่งมอบไฟฟ้า และไอน้ำที่มีคุณภาพแก่ลูกค้าอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ ส่วนกรณีราคาก๊าซสูงขึ้นมาก เป็นปัญหาระยะสั้นเท่านั้น แนวโน้มการดำเนินงานของเรายังดีต่อเนื่อง บริษัทมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในปีนี้มีโอกาสปิดดีลซื้อกิจการต่างประเทศได้ และในช่วงครึ่งปีหลังจะเปิดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการ SPP replacement จำนวน 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้ารายได้จะเติบโต 15-20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 4.43 หมื่นล้านบาท “นายนพเดชกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีกระแสเงินสด และมีแผนออกและเสนอขายหุ้นกู้มูลค่า 1.5-2 หมื่นล้านบาทด้วย

เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2565 บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี ที่มี BGRIM ถือหุ้น 100% ร่วมกับบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี ลงนามสัญญาการใช้ความสามารถการให้บริการสถานี (Terminal Use Agreement – TUA)

นายนพเดช คาดว่าจะสามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) รอบแรกราว 5 แสนตัน/ปีในเดือนม.ค.2566 หลังจากนั้นจะพิจารณานำเข้าให้ครบโควต้าทั้งหมด 1.25 ล้านตันภายในปี 2569

สำหรับการนำเข้า LNG รอบแรกจะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าของบริษัท จำนวน 18 แห่ง ที่ได้ COD แล้ว และ SPP Replacement จำนวน 5 แห่ง กำลังการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ ที่เตรียม COD ในครึ่งปีหลังนี้ด้วย คาดว่าจะลดต้นทุนลงได้ราว 5-10% ในปี 2566

นอกจากนี้บริษัทกำลังศึกษาการจำหน่าย LNG ให้กับโรงไฟฟ้าอื่นๆ ขนาดโรงไฟฟ้าประมาณ 40-100 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม, ภาคขนส่งด้วย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายใน 2-3 ปีจากนี้ น่าจะช่วยทำให้ผลประกอบการให้เติบโตขึ้นในอนาคต

นายนพเดชกล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ที่จะทำให้ผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) เอกชน ได้เข้ามาใช้บริการการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่มีบทบาทสำคัญสำหรับกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ภายหลังจากที่ภาครัฐ โดยกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำหนดแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ เปิดให้เอกชนสามารถขอใบอนุญาตเป็น shipper เพื่อนำเข้า LNG ได้ และเมื่อนำเข้า LNG เข้ามาแล้ว ต้องมีการนำมาแปรสภาพจากของเหลวเป็นก๊าซที่สถานี LNG Terminal ของ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี   และส่งเข้าระบบท่อส่งก๊าซฯ ของ PTT เพื่อส่งไปยังลูกค้าปลายทางทั้งโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อไป

บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี เป็น shipper 1 ใน 7 ราย ที่ได้ใบอนุญาตจัดหาค้าส่งก๊าซธรรมชาติจาก กกพ. เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563 โดยบริษัทได้เตรียมความพร้อมทั้งในการเจรจาสัญญาซื้อ LNG กับผู้ขายชั้นนำของโลก  รวมถึงขอใช้บริการสถานี PTT LNG Terminal (LMPT-1) แห่งที่ 1 กับ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี   โดยได้ยื่นจอง LMPT-1 กับ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี   เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2564 จำนวน 5 แสนตันต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปี (ปี 2566-2572) โดยมติ กกพ. เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.64 เห็นชอบให้ บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี   ได้รับการจัดสรรปริมาณการจองใช้ LMPT-1 ปริมาณ 0.5 ล้านตันต่อปี   เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ได้อย่างเหมาะสม