HoonSmart.com>> “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” เข้าร่วมเป็นพันธมิตร “องค์กรการประมงเพื่อความยั่งยืน” สะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสให้ดีขึ้น พัฒนาความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรการประมงเพื่อความยั่งยืน Sustainable Fisheries Partnership (SFP) เพื่อเดินหน้าพัฒนาความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทและขับเคลื่อนการพัฒนาดังกล่าวไปยังอุตสาหกรรมอาหารทะเลต่อไป
ข้อตกลงกับ SFP จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงการจัดหาอาหารทะเลที่ปลอดภัยจากการสร้างเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบในอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยจะมีการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของไทยยูเนี่ยนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนจะยังคงเข้าร่วมการประชุมกับ SFP ในประเด็นที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของบริษัท
ในปัจจุบัน SFP มีบริษัทต่างๆ ที่ร่วมเป็นพันธมิตรในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในการทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยพัฒนาห่วงโซ่อุปทานเดิมที่มีอยู่ การร่วมมือของ SFP และไทยยูเนี่ยนจะช่วยขยายการทำงานในด้านดังกล่าว ในฐานะที่ไทยยูเนี่ยนเป็นตัวอย่างของบริษัทอาหารทะเลชั้นนำที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง
การเป็นพันธมิตรร่วมกับ SFP จะทำให้ไทยยูเนี่ยนสามารถเข้าร่วมในโครงการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเล (Ocean Disclosure Projects: ODP) ได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะถึงข้อมูลห่วงโซ่อุปทานและความยั่งยืนผ่านโครงการนี้
นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ ความร่วมมือกับ SFP ในครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันความมุ่งมั่นตั้งใจของไทยยูได้เป็นอย่างดี สิ่งที่สำคัญในการร่วมมือในครั้งนี้คือการที่ไทยยูเนี่ยนจะสามารถใช้ระบบ Seafood Metrics ของ SFP ในการประเมินความยั่งยืนของแหล่งที่มาของอาหารทะเล และสามารถเข้าใจและประเมินศักยภาพในการทำงานด้านความยั่งยืนในปัจจุบันของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น เพื่อปรับปรุงการทำงานของบริษัทต่อไป
แคธริน โนวัค ผู้อำนวยการด้านการตลาดทั่วโลก องค์กร SFP กล่าวว่า “ที่ SFP เรากำลังทำงานเพื่อให้โลกมีท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ อาหารทะเลทุกชนิดถูกผลิตด้วยวิธีการที่ยั่งยืน และทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารทะเลที่ยั่งยืนได้ พันธกิจของ SFP มีความสอดคล้องกับโครงการ SeaChange® ของไทยยูเนี่ยน ความร่วมมือครั้งนี้จะผลักดันให้การทำงานของทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายในการดูแลท้องทะเลให้อุดมสมบูรณ์ และการมีอาหารทะเลที่ยั่งยืน”
ระบบ Seafood Metrics ของ SFP จะทำให้ไทยยูเนี่ยนสามารถปรับปรุงการติดตาม ความโปร่งใส และการตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง โดยระบบดังกล่าวจะทำให้ไทยยูเนี่ยนสามารถประเมินและติดตามห่วงโซ่อุปทานของการจับแบบธรรมชาติและแบบเพาะเลี้ยงทั่วโลกที่บริษัทใช้จัดหาให้กับธุรกิจที่ยุโรป อเมริกา และเอเชีย ระบบ Seafood Metrics จะรวบรวมและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับด้านธรรมาภิบาล เป้าหมายความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากร ความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในแหล่งการทำประมงของบริษัท นอกจากนี้ตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน เช่น การรับรอง การประเมินความเสี่ยงในงานด้านสิทธิมนุษยชน การประเมินขององค์การนอกภาครัฐ และการตรวจสอบย้อนกลับซึ่งจะรวมอยู่ในการติดตาม
การดำเนินการอื่นๆ ภายใต้ความร่วมมือนี้จะรวมถึงการตรวจสอบสัตว์น้ำพลอยได้จากห่วงโซ่อุปทานของไทยยูเนี่ยน การจับสัตว์น้ำพลอยได้เป็นการจับสัตว์น้ำสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่เป้าหมายของการจับติดขึ้นมาด้วยโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งการจับในลักษณะนี้เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางชีวภาพของการทำประมงทางทะเล ด้วยการประเมินผลกระทบของห่วงโซ่อุปทานต่างๆ เหล่านี้ บริษัทจะสามารถจัดการต่อไปได้
SFP คือองค์กรที่ปกป้องสายพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ถูกคุกคาม และถูกคุ้มครอง (Endangered, Threatened and Protected: ETP) ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลก การริเริ่มครั้งแรกนี้จะมีส่วนร่วมและขับคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารทะเล และห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดเพื่อลดการจับสัตว์น้ำพลอยได้สายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ถูกคุกคาม และถูกคุ้มครอง เช่น ฉลาม นกทะเล สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล และเต่าทะเล ซึ่งจะสอดคล้องกับหนึ่งในโครงการริเริ่มของกลยุทธ์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน หรือ SeaChange® และกลยุทธ์ของ Seafood Business for Ocean Stewardship (SeaBOS) ใหม่ เพื่อปกป้องสัตว์สายพันธุ์ที่ถูกคุกคามและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์