เงินต่างชาติกลับมาแล้ว เริ่มเข้าตราสารหนี้ FETCO ลุ้นต่อไปจะเข้าหุ้น

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ลุ้นเงินต่างชาติไหลกลับเข้าหุ้น หลังจากกลับเข้าตลาดตราสารหนี้ครั้งแรกหลังเจอพิษ FED ขึ้นดอกเบี้ย คาดนักลงทุนต่างชาติมั่นใจพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งที่สุดในตลาดเกิดใหม่ หวังเลือกตั้งช่วยหนุน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) กล่าวว่า ในเดือน ส.ค. 2561 มีเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ไหลออกไปเมื่อเดือน ก.พ. 2561 จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งคาดว่าเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นเป็นลำดับต่อไป

“ก่อนหน้านี้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตราสารหนี้ เช่นเดียวกับตลาดหุ้น แต่ตอนนี้เงินไหลกลับเข้าตราสารหนี้แล้ว เพราะนักลงทุนต่างชาติเริ่มแยกแยะประเทศไทยกับตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ได้แล้วว่า ประเทศไทยมีปัญหาหนี้ต่างประเทศน้อยมาก พื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงน้อยมาก ดังนั้นหากนักลงทุนต่างชาติมองทิศทางที่ดีขึ้น กังวลหนี้ต่างประเทศลดลง เงินน่าจะไหลกลับ” นายไพบูลย์ กล่าว

นอกจากนี้ ตลาดยังคาดกันว่า ในเดือนนี้น่าจะมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ออกมาได้ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนช่วยดึงเงินต่างชาติเข้ามาได้

ไพบูลย์ นลินทรางกูร

“ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นไทยน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะไหลกลับมาเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นก็มีมาก ช่วงนี้เป็นจังหวะเหมาะสมที่จะสะสมหุ้น เพราะเชื่อว่า ตลาดกระทิงของตลาดหุ้นไทยยังไม่จบ เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจเข้มแข็ง บริษัทจดทะเบียนมีกำไรที่ดี มีการเลือกตั้ง มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้อีกอย่างน้อย 2 ปี” นายไพบูลย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ กล่าวว่า ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง คือ ผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่งหลังจากจบการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะผ่อนคลายท่าทีลงหรือไม่

FETCO Index ทรงตัว 5 เดือนติด

นายไพบูลย์ เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน เดือนกันยายน 2561 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.24% อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน เป็นตัวหนุนความเชื่อมั่น ขณะที่ความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าและการลงทุน และการไหลเข้าออกของเงินทุน เป็นตัวฉุดความเชื่อมั่น

หมวดธนาคาร (BANK) หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) และหมวดวัสดุก่อสร้าง (CONMAT) เป็นหมวดธุรกิจที่นักลงทุนสนใจมากที่สุด ขณะที่หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) และหมวดธุรกิจเหล็ก (STEEL) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด

“ถ้ามองจากต้นปีจนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2561 ตลาดหุ้นไทยไม่ได้แย่ เมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มมองหุ้นไทยดีขึ้นแล้ว แม้จะยังมีแรงขายต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในตลาดหุ้นไทยมีการลงทุนของ Algo Trade และ ETF ซึ่งทำให้การซื้อขายไม่ได้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานเสมอไป แต่ยอดขายลดลงก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี” นายไพบูลย์ กล่าว

นักวิเคราะห์-ผู้จัดการกองทุน ให้เป้าสิ้นเดือนนี้ 1,735 จุด

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการและกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อแนวโน้มดัชนีหุ้นในระยะสั้น ว่า สิ้นเดือน ก.ย. นี้ คาดว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,735 จุด โดย 50% มองว่า ตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ (Sideway) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่ 28.57% มองว่า จะเป็นไปในทิศทางบวก และอีก 21.43% มองว่าจะไปในทิศทางลบ

นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน ประเมินว่า ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสงครามการค้า เงินทุนต่างชาติ และการเลือกตั้งของไทย

“เมื่อมองภาพที่ยาวขึ้นไปจนถึงสิ้นป 2561 นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน คาดว่าจุดต่ำสุดของตลาดหุ้นไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,647 จุด และจุดสูงสุดในช่วงที่เหลือของปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,819 จุด โดยเป้าหมายดัชนี ณ สิ้นปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,794 จุด” นายสมบัติ กล่าว

จากนี้จนถึงสิ้นปีจะมีปัจจัยบวก ได้แก่ ปัจจัยการเมืองในประเทศที่รวมถึงแนวโน้มการเลือกตั้ง และเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน โดยปัจจัยลบ ได้แก่ เศรษฐกิจต่างประเทศ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ขณะที่ปัจจัยดอกเบี้ยในประเทศไม่มีผลมากนักต่อราคาหุ้นในช่วงที่เหลือของปี

“นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ คาดว่า กนง. จะปรับดอกเบี้ยในไตรามาส 4 ปีนี้ ไปจนถึงไตรมาส 1 ปีหน้า ขณะที่ส่วนใหญ่คาดว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. – พ.ค. 2562 โดยมี 5 หุ้นเด่นที่นักวิเคราะห์แนะนำตรงกัน 4 สำนักขึ้นไป ได้แก่ AMATA, BBL, BDMS, KKP และ PTTEP” นายสมบัติ กล่าว

ต่างชาติถือตราสารหนี้ระยะยาว มั่นใจไม่ใช่เงินร้อน

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า เริ่มเห็นสัญญาณการกลับทิศของเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2561 ในช่วงที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ตุรกี มีปัญหาวิกฤตค่าเงิน ทำให้เงินทุนไหลเข้าในเดือน ส.ค. 2561 อยู่ที่ 56,993 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นครั้งแรกหลังจากที่เงินทุนไหลออกในช่วงที่ FED ขึ้นดอกเบี้ย

“เมื่อไปดูการถือครองตราสารหนี้ภาครัฐของนักลงทุนต่างชาติ อยู่ที่ 890,476 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 79% เป็นการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 1 ปี ซึ่งเชื่อว่าเป็นการลงทุนระยะยาว เพราะการเข้าออกไม่ง่าย ที่เหลือ12% เป็นการถือครองตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น ซึ่งเป็นไปได้ที่จะเข้าออกเร็ว เพราะสภาพคล่องสูง” น.ส.อริยา กล่าว

นอกจากนี้ น.ส.อริยา กล่าวอีกว่า แนวโน้มนักลงทุนต่างชาติจะลดการถือครองตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นลง โดยไม่ได้ลดการถือครองตราสารหนี้ระยะยาวลง

“ประเทศไทยยังมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนตราสารหนี้ เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ โดยบวก 10.82% ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่ำเพียง 33% เงินเฟ้อก็ต่ำ” น.ส.อริยา กล่าว

นายวิน อุดมรัชตวนิชต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อดูแลทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าจะเป็นปัจจัยด้านเงินเฟ้อ โดยคาดว่า จะยังมีเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมทั้งตลาดหุ้นไทยด้วย แต่เชื่อว่า ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานดี จะทำให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยทำได้ดีกว่าตลาดเกิดใหม่อื่นๆ

“คำแนะนำการจัดสัดส่วนการลงทุน เราชอบตราสารหนี้ระยะกลางในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ มากกว่าหุ้น แต่หากเป็นหุ้นจะชอบตลาดพัฒนาแล้วมากกว่าตลาดเกิดใหม่ โดยให้น้ำหนักไปที่หุ้นกลุ่ม Healthcare ที่คาดว่ายังไปต่อได้ โดยชอบการลงทุนแบบ Passive มากกว่า Active เพราะในช่วงที่ตลาดปรับเพิ่มขึ้นจะมีหุ้นบางตัวที่ไม่เพิ่มขึ้น” นายวิน กล่าว

คลิกชมคลิป Facebook Live การแถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)