HoonSmart.com>> “เครือไทย โฮลดิ้งส์” บริษัทในกลุ่มเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ขาดทุนปี 64 กว่า 3,260 ล้านบาท หลัง “อาคเนย์ประกันภัย-ไทยประกันภัย” อ่วมเคลมประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ยอดพุ่ง 10,907 ล้านบาท ต้องเลิกกิจการ 2 บริษัทย่อย ด้านบอร์ดไฟเขียวเพิ่มทุน 451.25 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม-ประชาชนทั่วไป-บุคคลในวงจำกัด หวังเพิ่มสภาพคล่อง เสริมแกร่งทางการเงิน รองรับขยายธุรกิจ พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์”
บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 ประเภทรายงานของผู้สอบบัญชีในงบการเงิน ผู้สอบบัญชีมีเงื่อนไขและมีข้อสังเกต/เรื่องอื่น โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 3,260.47 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 4.34 บาท พลิกจากงวดปี 2563 กำไรสุทธิ 728.45 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.97 บาท
ผละประกอบการของกลุ่มบริษัทฯ ในปี 2564 มีผลขาดทุนสุทธิ 3,360 ล้านบาท ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญจากการดำเนินงานของธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทย่อย 2 แห่ง คือ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย (SEIC) และบริษัท ไทยประกันภัย (TIC) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการออกกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประเภทเจอจ่ายจบ
ด้านค่าใช้จ่ายสินไหมทดแทนกรมธรรม์ COVID-19 ของ SEIC และ TIC ที่เกิดขึ้นแล้วในปี 2564 มีจำนวนรวม 10,907 ล้านบาท โดยที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินในปี 2564 รวม 9,600 ล้านบาท ซึ่งหากไม่ได้รับการสนับสนุนดังกล่าว ยอดรวมค่าสินไหมที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ผลประกอบการของ TGH ขาดทุนสูงกว่า 10,000 ล้านบาท และอาจส่งผลให้ SEIC และ TIC ไม่สามารถที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 เป็นต้นมา
กลุ่มบริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากการขาดทุนจากธุรกิจประกันภัย จำนวน 4,383 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากค่าสินไหมทดแทนกรมธรรม์โควิด เจอจ่ายจบ ตามที่รายงานสรุปผลกระทบของ COVID ต่อผลประกอบการของธุรกิจประกันวินาศภัยจำนวน 4,206 ล้านบาท ประกอบกับมีการตั้งสำรองรายการที่เกี่ยวข้องกับการเลิกประกอบธุรกิจของ SEIC จำนวน 278 ล้านบาท
ในขณะที่ผลการดำเนินงานของการรับประกันภัยรถยนต์และทรัพย์สินมีการปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จากการลดลงของค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับ การควบคุมต้นทุนการได้มาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ขณะที่บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 33,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,408 ล้านบาท หรือ 44.8%
ทั้งนี้ การดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจอื่น ทั้งประกันชีวิตและธุรกิจการเงินมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยธุรกิจประกันชีวิตกำไรสุทธิ 665 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 760 ล้านบาท ธุรกิจการเงินกำไรสุทธิ 640 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 331 ล้านบาท ส่วนธุรกิจประกันภัยขาดทุน 4,383 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 96 ล้านบาทและธุรกิจอื่นๆ ขาดทุน 282 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 289 ล้านบาท
คณะกรรมการมีมติให้เสนอผู้ถือหุ้นเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 4,512,586,980 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 7,520,978,320 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 12,033,565,300 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 451,258,698 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดยวิธีที่ 1 จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 225,629,349 หุ้น คิดเป็น 30% ของทุนชำระแล้วเพื่อเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น
วิธีที่ 2 จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 150,419,566 หุ้น คิดเป็น 20% ของทุนชำระแล้ว เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป
วิธีที่ 3 จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 75,209,783 หุ้น คิดเป็น 10% ของทุนชำระแล้วเพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด
พร้อมกันนี้คณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทเป็น บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดยกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นสำมัญประจำปี 2565 ในวันที่ 28 เม.ย.2565
วัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อยและบริษัทในเครือที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติมในการขยายธุรกิจในอนาคตให้เป็นไปตามแผนงานและเป้าหมายของบริษัท โดยกำหนดรายละเอียดการเพิ่มทุนที่ชัดเจนเมื่อคณะกรรมการบริษัทมีมติจัดสรร
การเพิ่มทุนในครั้งนี้จะทำให้บริษัทสามารถระดมทุนได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะเพิ่มสภาพคล่องและสร้างความแข็งแกร่งทางโครงสร้างเงินทุนของบริษัท สร้างความมั่นคงด้านสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทและจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัท
ด้านสินทรัพย์รวม ณ ปี 2564 เท่ากับ 91,562 ล้านบาท ลดลง 1,065 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อน โดยมาจากการลดลงของสินทรัพย์ลงทุนจำนวน 1,118 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 67% ของสินทรัพย์รวม
สินทรัพย์ลงทุนลดลง 1,118 ล้านบาท จาก 62,671 ล้านบาท เป็น 61,553 ล้านบาท หรือลดลง 1.8% โดยที่เงินลงทุนยังคงเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทุนเป็นหลัก โดยในระหว่างปีมีการขายตราสารหนี้เพื่อจ่ายคืนผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ครบกำหนดสัญญา และมีการปรับมูลค่าลดลง เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว ประกอบกับมีการปรับพอร์ตเป็นการลงทุนระยะสั้นมากขึ้น เพื่อเตรียมกระแสเงินสดสำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทน COVID-19 และมีการเพิ่มขึ้นของเงินให้กู้ยืม(ธุรกิจการเงิน) จากการขยายตัวของการให้สินเชื่อการรับซื้อลดเช็ค
ด้านส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 10,017 ล้านบาท ลดลง 3,754 ล้านบาท เนื่องจากขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 633 ล้านบาท และมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับปี2563 ให้แก่ผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2564 จำนวน 451 ล้านบาท (อัตราการจ่ายเงินปันผล 0.6 บาทต่อหุ้น)