HoonSmart.com>>”ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” เดินหน้าทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปี 64 โกยกำไรสุทธิ 8,013 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.3% ยอดขายโต 6.5%อยู่ที่ 141,048 ล้านบาทแจกเงินปันผลครึ่งปีหลัง 0.50 บาท ขึ้น XD 9 มี.ค. รวมทั้งปีให้ผลตอบแทนสูงสุดของบริษัท แผนปี 65 ส่งบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) เข้าตลาดหุ้น เดินหน้าขยายธุรกิจเน้นอัตราการทำกำไรสูงขึ้น ธุรกิจใหม่ที่เพิ่มมูลค่า มุ่งความยั่งยืน
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยผลดำเนินงานปี 2564 มีกำไรสุทธิ 8,013 ล้านบาท เท่ากับกำไรหุ้นละ 1.66 บาท เพิ่มขึ้น 1,767 ล้านบาท หรือ 28.3% จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 6,246 ล้านบาท หรือ 1.27 บาทต่อหุ้น โดยยอดขายเติบโต 6.5 % อยู่ที่ 141,048 ล้านบาท กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 9.9% อยู่ที่ 25,727 ล้านบาท
ส่วนไตรมาสที่ 4/2564 มีกำไรสุทธิ 1,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 473 ล้านบาท หรือ 32.46% จากไตรมาสที่ 4/2563 ที่ทำได้จำนวน 1,457 ล้านบาท และใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 3/2564 จำนวน 1,937 ล้านบาท โดยมียอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 38,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.1%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
บริษัทโชว์ผลงานยอดเยี่ยมทั้งไตรมาสที่ 4 และประจำปี 2564 นับว่าดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากปัจจัยธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นที่มีการฟื้นตัวและความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดขายที่ทำลายสถิตินับเป็นผลสำเร็จจากกลยุทธ์ธุรกิจระยะยาวที่บริษัทตั้งไว้ รวมถึงการมีวินัยทางการเงินและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่ดำเนินมาโดยตลอด
ปัจจัยที่สนับสนุนยอดขายในไตรมาส 4/2564 เนื่องจากธุรกิจอาหารทะเลแช่งแข็งและแช่เย็นที่ฟื้นตัวในสหรัฐอเมริกา ภายหลังมาตรการป้องกันโควิด-19 มีการผ่อนคลายและร้านอาหารและโรงแรมเริ่มทยอยเปิดให้บริการ นอกจากนี้ยอดขายจากหน่วยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจเพิ่มมูลค่ายังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะประสบสภาวะการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกก็ตาม
ยอดขายธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋องในไตรมาสที่ 4/2564 เติบโต 4.9 % ด้วยการปรับขึ้นราคาขายสินค้า ส่วนยอดขายธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นเติบโตขึ้น 21 %จากการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม ในขณะที่ยอดขายธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้าเพิ่มมูลค่าเติบโตขึ้นถึง 27.2%จากความต้องการสินค้าที่สูงขึ้นมากและฐานลูกค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลประกอบการตลอดทั้งปี ไทยยูเนี่ยนสามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมเป็นประวัติการณ์ โดยมีกำไรสุทธิเติบโต 28.3 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ระดับ 8,013 ล้านบาท ยอดขายเพิ่มขึ้น 6.5 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 141,048 ล้านบาท ส่วน
ไทยยูเนี่ยนประกาศปันผลงวดการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจำนวน 0.50 บาทต่อหุ้น ให้ผู้ถือหุ้นที่มีชื่อในทะเบียนวันที่ 10 มี.ค. ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 9 มี.ค. และจ่ายเงินวันที่ 20 เม.ย. 2565 หลังจากจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล แล้วหุ้นละ 0.45 บาท รวมทั้งปีให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น 4,422 ล้านบาท หรือหุ้นละ 0.95 บาท คิดเป็น 57.34% ของกำไรสุทธิหลังดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน (5,945.27 ล้านบาท) เป็นระดับที่สูงสุดของบริษัทสะท้อนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนทำผลงานได้ดีเยี่ยมเป็นประวัติการณ์ ทั้งรายได้และกำไรสุทธิ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากยอดขายที่เติบโตและความสามารถในการทำกำไร ด้วยกลยุทธ์ธุรกิจระยะยาว ทำให้ธุรกิจหลักแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ที่เพิ่มมูลค่า
นอกจากนี้บริษัทยังเน้นในเรื่องของวินัยทางการเงินที่สร้างความสามารถในการทำกำไรและความยั่งยืน ทำให้ผลประกอบกาในปี 2564 ดีเยี่ยม ทุกคนที่ไทยยูเนี่ยนทุ่มเททำงานหนักเพื่อให้ธุรกิจดำเนินได้อย่างต่อเนื่องในทุกด้าน อีกทั้งยังผลักดันให้เกิดธุรกิจที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นและคงอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ระดับ 0.99 เท่า
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด นอกจากไทยยูเนี่ยนจะบริหารธุรกิจให้ผ่านวิกฤตไปได้แล้ว ทีมผู้บริหารยังมองถึงการพัฒนาธุรกิจให้มีแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าจะต้องดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤตโควิด แต่ยังมองไปยังอนาคต โดยมีการลงทุนกลยุทธ์ทั้งในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการเร่งการเติบโตในอนาคต ไทยยูเนี่ยนยังได้ตั้งบริษัท ไทยยูเนี่ยน ไลฟ์ไซเอนซ์ ขึ้นเพื่อเข้ามาดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ส่งตรงถึงผู้บริโภค ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตเร็ว
ในปี 2564 บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือยังได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะรองรับการเติบโตและขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในเอเชีย TU ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีการเปลี่ยนชื่อ บริษัท สงขลาแคนนิ่ง เป็น บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) โดยมีแผนจะนำ ITC เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2565 เพื่อรองรับการพัฒนาและขยายกิจการในธุรกิจสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จะเสนอขายหุ้นใหม่และหุ้นเดิมให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 120 ล้านหุ้น เท่ากับ 22% จัดสรรให้โครงการ ESOP จะเสนอขายหุ้นให้แก่ กรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือพนักงานของ ITC และบริษัทย่อย ไม่เกิน 5 ล้านหุ้น หรือ 0.17%
ความยั่งยืนยังคงเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจของไทยยูเนี่ยน บริษัทได้รับการจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 2 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ในปี 2564 ไทยยูเนี่ยนได้แต่งตั้งนายอดัม เบรนนัน เป็นผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเดินหน้างานด้านความยั่งยืนในฐานะผู้นำในเวทีโลกต่อไป
ในปี 2564 ไทยยูเนี่ยนได้เริ่มก้าวสู่ Blue Finance โดยเป็นบริษัทแรกๆ ในประเทศไทยที่เดินหน้าการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืนและตั้งเป้าหมายการทำงานที่สนับสนุนการอนุรักษ์มหาสมุทร และผลสำเร็จตามเป้าหมายจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยของเครื่องมือการเงินชนิดนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อหรือหุ้นกู้ โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับสินเชื่อและออกหุ้นกู้ที่ส่งเสริมความยั่งยืนรวมทั้งสิ้น 27,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายระยะยาวให้ 75% ของเงินกู้ยืมระยะยาวของบริษัทเป็น Blue Finance ภายในปี 2568 ซึ่งเพิ่มจาก 50% เมื่อสิ้นปี 2564
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ธุรกิจทั่วโลกต้องรับมือ ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานทั่วโลกและดูแลสังคมและชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ นอกจากนี้ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ไทยยูเนี่ยนได้ริเริ่มโครงการไทยยูเนี่ยนแคร์ และได้บริจาคอาหารมากกว่า 4 ล้านชุด ทั้งอาหารสำหรับคนและสัตว์เลี้ยง รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ การช่วยเหลือด้านงบประมาณ ให้กับผู้ที่ประสบความยากลำบากในชุมชนและพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก
สำหรับปี 2565 ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจโดยมุ่งเน้นในเรื่องอัตราการทำกำไรที่สูงขึ้นและธุรกิจใหม่ที่เพิ่มมูลค่า เช่น ส่วนประกอบอาหาร อาหารเสริมเพื่อสุขภาพและโปรตีนทางเลือก เพื่อให้สอดรับกับตลาดที่เติบโตเร็วในธุรกิจเหล่านี้
นายธีรพงศ์ กล่าวต่อไปว่า การเดินหน้าทางธุรกิจ สอดรับกับเป้าหมายของไทยยูเนี่ยนที่มุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คน ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรทางทะเลให้อุดมสมบูรณ์ หรือ Healthy Living, Healthy Oceans ที่นอกจากจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแล้ว เรายังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้าเราด้วยนวัตกรรมที่ช่วยให้เราสามารถดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คน”
“ในปี 2565 แม้ว่าจะยังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับทุกคน ทั้งอัตราเงินเฟ้อ การแพร่ระบาด ห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ไทยยูเนี่ยนจะยังเดินหน้าอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างผลงานให้ได้ดีเหมือนปีที่ผ่านมา” นายธีรพงศ์กล่าว