HoonSmart.com>> “ปัญจวัฒนาพลาสติก” เปิดกำไรปี 64 แตะ 170 ล้านบาท เติบโต 47% รายได้รวม 3,087 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 9.47% ขานรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ด้านยอดขายนิวโมเดลบรรจุภัณฑ์นม-นมเปรี้ยวพุ่ง ดันมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจโต บอร์ดเคาะปันผล 0.08 บาท ขึ้น XD 18 เม.ย.นี้ พร้อมพลิกเกมรุกบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจ ปรับโครงสร้างกิจการ Spin off ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ให้บริษัทย่อย “PJW AutoEV” แทน เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ส่งซิกจ่อต่อยอดธุรกิจ EV
บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ 169.47 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.29 บาท เพิ่มขึ้น 54.42 ล้านบาท หรือ 47.30% จากงวดปี 2563 มีกำไรสุทธิ 115.05 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.20 บาท
บริษัทฯ มีรายได้รวม 3,086.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 266.96 ล้านบาท หรือ 9.47% เนื่องจากในไตรมาส 2-3 ปี 2563 เริ่มเกิดสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงต้นปี 2564 นี้ยอดขายฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเกือบจะเป็นปกติแล้ว รวมถึงมียอดขายใหม่ของงานนิวโมเดลในส่วนของยอดขายบรรจุภัณฑ์สำหรับนมและนมเปรี้ยว ทั้งนี้ การล๊อกดาวน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงกลางปีส่งผลไม่รุนแรงเท่ากับปี 2563
ในส่วนของธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ยอดขายเติบโตชะลอตัว เนื่องจากการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงกลางปีที่ส่งผลต่อคำสั่งผลิตรถยนต์บางรุ่น หากแต่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว และเมืองจีนยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 15%
ด้านอัตรากำไรขั้นต้นรวม เท่ากับ 18.6% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ 19.5% เนื่องจากราคาเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี2564 นอกจากนี้บริษัทมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มเพื่อจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดทำ Bubble and Seal ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโรงพยาบาลสนามของบริษัท ค่าชุดตรวจโควิด และ ค่าวัคซีน เป็นต้น อย่างไรก็ดีบริษัทมีการควบคุมต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดความสูญเสีย ทำให้สามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้
คณะกรรมการบริษัทฯ มีมตินุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ในอัตรา 0.08 บาท รวมเป็นเงิน 45.92 ล้านบาท โกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) 19 เม.ย. 2565 วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 18 เม.ย. 2565 และจ่ายปันผล 5 พ.ค. 2565
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) เปิดเผยว่า นอกจากผลการดำเนินงานปี 2564 ที่กลับมาท็อปฟอร์มอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์โควิด-19ฉุดภาพรวมธุรกิจและทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมลดลงในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีการพิจารณาบริหารจัดการเพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีมติอนุมัติปรับโครงสร้างกิจการโดยการโอนกิจการบางส่วน (Partial Business Transfer : PBT) ได้แก่ 1). ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับยานยนต์ 2). ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์พ่นสี 3). ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนที่ใช้เม็ดพลาสติกวิศวกรรมในงานอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงชิ้นงานพลาสติกที่ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์ และ 4). ผลิตและจำหน่ายแม่พิมพ์ที่ใช้สำหรับกิจการในธุรกิจชิ้นส่วนยายนต์ไปยัง บริษัท พีเจดับเบิ้ลยู ออโต้อีวี จำกัด (PJW AutoEV) (เดิมชื่อ บริษัท พลาสเทค แล็บ จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ PJW ถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ของทุนจดทะเบียน
สำหรับการปรับโครงสร้างกิจการในครั้งนี้ เพื่อให้บรรลุตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯในการบริหารการดำเนินธุรกิจแต่ละประเภทให้ชัดเจน และช่วยให้การบริหารจัดการความเสี่ยงในแต่ละธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการขยายและต่อยอดธุรกิจสู่การเติบโตและยั่งยืนในอนาคต รวมถึงยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการและการบริหารงานของกลุ่มบริษัทฯ
อย่างไรก็ตาม ภายใต้แผนการปรับโครงสร้างกิจการของบริษัทฯ “ PJW”ยังคงประกอบธุรกิจทั่วไป (Operating Company) โดยยังคงเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก รวมถึงประกอบธุรกิจเข้าลงทุนรวมไปถึงการเข้าร่วมทุนในกิจการอื่น ดังนั้นการโอนกิจการ ให้แก่ PJW AutoEV ดังกล่าว เป็นการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ จึงไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อกลุ่มบริษัทแต่อย่างใด
“ส่วนตัวเชื่อว่าการปรับโครงการกิจการในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆในการขยายตัวทางธุรกิจ รวมถึงยังเป็นการเปิดโอกาสในการหาผู้ร่วมทุนหรือพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่ง และยังสามารถเพิ่มขีดการแข่งขันของบริษัท และเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการและการบริหารงานองค์กรของกลุ่มบริษัทฯ และเป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจออกจากกัน ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้การบริหารงานองค์กรเกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น”นายวิวรรธน์ กล่าว
นายวิวรรธน์ กล่าวอีกว่า การ Spin off กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ มายัง PJW AutoEV ถือเป็นการปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อสร้างความต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ยุคการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถ EV เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง PJW มีศักยภาพในการผลิตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและกลุ่มลูกค้าที่บริษัทฯเป็นผู้ผลิตให้ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเชื่อว่าเทรนด์การใช้รถ EV ในประเทศไทยสามารถเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ได้อีกมากจากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า
นอกจากนี้ให้นำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติการปรับโครงสร้างกิจการโดยการโอนกิจการบางส่วน (Partial Business Transfer : PBT) ได้แก่ 1) ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับยานยนต์ 2) ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์พ่นสี 3) ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนที่ใช้เม็ดพลาสติกวิศวกรรมในงานอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงชิ้นงานพลาสติกที่ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์ 4) ผลิตและจำหน่ายแม่พิมพ์ที่ใช้สำหรับกิจการตามข้อ 1-3 รวมถึงลูกหนี้การค้า สินค้าคงคลัง สัญญา เครื่องจักรและอุปกรณ์ อุปกรณ์สำนักงาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ใบอนุญาต สิทธิประโยชน์ต่างๆบุคลากรที่เกี่ยวข้องที่ใช้ในการประกอบกิจการดังกล่าว และ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 2 จังหวัดชลบุรี รวมถึงเจ้าหนี้การค้า และหนี้สินที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน ไปยังบริษัท พีเจดับเบิ้ลยู ออโต้อีวี จำกัด (PJW AutoEV) ( เดิมชื่อ บริษัท พลาสเทค แล็บ จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ของทุนจดทะเบียน
ภายหลังการโอนกิจการดังกล่าวบริษัทจะยังคงเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก รวมถึงประกอบธุรกิจเข้าลงทุนรวมไปถึงการเข้าร่วมทุนในกิจการอื่น เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจ