HoonSmart.com>>ดีลประวัติศาสตร์ บอร์ด”บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น” อนุมัติควบ “บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน” เคาะสูตรแลกหุ้น 1 หุ้นTRUE ต่อ 0.60018 -1 หุ้น DTAC ต่อ 6.13444 บริษัทใหม่ทุนชำระแล้ว 138,208 ล้านบาท 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ทรู กลุ่ม ซีพี-ไชน่าโมบาย ถือ 39.41% 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ DTAC ถือ 27.34% ผู้ถือหุ้นรายย่อยถือ 33.25% หวังปรับโครงสร้างก้าวขึ้นสู่เทคคอมพานีเต็มรูปแบบ เพิ่มความสามารถแข่งขัน พัฒนาประเทศ
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน (TRUE) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2565 มีมติสําคัญอนุมัติการควบบริษัทฯกับบริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน (DTAC) รวมถึงอัตราการจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ อัตราส่วน 1 หุ้นTRUE ต่อ 0.60018 หุ้น และ 1 หุ้น DTAC ต่อ 6.13444 หุ้น บริษัทใหม่มีทุนเรียกชำระแล้ว 138,208,403,204 บาท แบ่งเป็นหุ้น จํานวน 34,552,100,801 หุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้(พาร์) หุ้นละ 4 บาท โดยมีบริษัท ซิทริน โกลบอล และ Citrine Venture SG Pte Ltd เป็นผู้ทำคำเสนอหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบ ให้ราคาหุ้น TRUE ที่ 5.09 บาท, DTAC ราคา 47.76 บาท และเป็นผู้เกลี่ยเศษหุ้น
ส่วนขั้นตอนการควบ บริษัท TRUE และ DTAC จะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 4 เม.ย. 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) เพื่อขอมติอนุมัติการควบ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจํานวนเสียงของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน หลังจากนั้นจะจัดส่งหนังสือแจ้งมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นไปยังเจ้าหนี้ของบริษัทฯ และ DTAC ภายใน 14 วัน โดยให้เวลาเจ้าหนี้ส่งคําคัดค้านภายในสองเดือน รวมถึงจะต้องโฆษณามติทีประชุมผู้ถือหุ้น ทางหนังสือพิมพ์ภายในกําหนดเวลา 14 วัน
สำหรับวัตถุประสงค์ของการควบบริษัท TRUE และ DTAC มีจุดมุ่งหมายสําคัญ พัฒนาต่อยอดธุรกิจโทรคมนาคมไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ที่สมบูรณ์ ซึ่งสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาด และเพื่อส่งเสริมการแข่งขันผ่านทางการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายยุคใหม่ ทั้งนี้ ธุรกิจโทรคมนาคมจะยังคงเป็นธุรกิจที่สาคัญของบริษัทใหม่ พร้อมเดินหน้ามุ่งพัฒนาธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตสูงเพิ่มเติมอย่าง New S-curve และเน้นด้านเทคโนโลยี
รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองและการอยู่อาศัยอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น และโซเชียลคอมเมิร์ซ โดยมีความสามารถในการระดมเงินทุน นําไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพทางด้านดิจิทัลที่มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มชั้นนํารายใหญ่ระหว่างประเทศเช่น Line Meta GoogleและTencent เป็นต้น
ขณะเดียวกัน บริษัทใหม่จะมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจด้านเทคโนโลยีและดาต้า ก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการหลัก (Key Player) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการปฏิรูปด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) ของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 จะช่วยผลักดันให้เกิดศูนย์กลางด้านดิจิทัลทีทันสมัยในภูมิภาค รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมดิจิทัล จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไทย ผลักดันความสามารถของผู้ประกอบการและองค์กรต่างๆ สู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ