SUPER ตั้งอินฟราฟันด์ 9 พันล.ลงทุนโซลาร์ฟาร์ม 118 เมกกะวัตต์

บอร์ดซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น อนุมัติตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดไม่เกิน 9 พันล้าน พร้อมโอนสิทธิรายได้สุทธิของโซลาร์ฟาร์มของ 17AYH และ HPM รวม 19 โครงการ ขายให้กองทุน คาดเสนอขายหน่วยลงทุนในไตรมาส 2 ปี 62

บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2561 มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าทำธุรกรรมกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (กองทุนอินฟราฟันด์) ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารเพื่อขออนุมัติการจัดตั้งกองทุนฯ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อการระดมทุน โดยมีขนาดกองทุนไม่เกิน 9,000 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอขายหน่วยลงทุนได้ในชวงไตรมาส 2 ปี 2562

คณะกรรมการฯ อนุมัติให้บริษัทย่อยเข้าทำธุรกรรมโอนสิทธิรายได้สุทธิจากการดําเนินโครงการกิจการโรงไฟฟ้าพลงงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินขนาดเล็กมาก (VSPP) ของบริษัท 17 อัญญวีร์ โฮลดิ้ง (17AYH) และบริษัท เฮลท์ แลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) ( HPM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ที่ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แล้วแต่กรณี จำนวนทั้งหมด 19 โครงการ โดยมีปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุดที่เสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟรวม 118 เมกะวัตต์ ให่แก่กองทุน

สำหรับมูลค่าตามบัญชีของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ของ 17AYH และ HPM ตามงบการเงินฉบับตรวจสอบ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2560 เท่ากับ 4,164.53 ล้านบาทและ 2,011.56 ล้านบาท ตามลำดับ โดยราคาโอนสิทธิสุดท้ายขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างคู่สัญญาโดยพิจารณาจากสภาวะตลาดทุนในขณะนั้น ส่วนราคาเสนอขายหน่วยลงทุนกำหนดจากการสำรวจปริมาณความต้องการซื้อหน่วยลงทุนของนักลงทุนสถาบัน (Book Building) และขึ้นกับสภาวะตลาด

นอกจากนี้บริษัทฯ หรือบริษัทย่อยจะเข้าซื้อหน่วยลงทุนจำนวนไม่เกิน 1 ใน 3 หรือประมาณ 33% ของหน่วยลงทุนที่เสนอขาย หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท จากขนาดกองทุนเบื้องต้นไม่เกิน 9,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะใช้เงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินมาใช้ซื้อหน่วยลงทุนและชำระคืนเงินกู้ด้วยเงินตอบแทนค่าโอนสิทธิรายได้สุทธิที่บริษัทย่อยได้รับจากกองทุน โดยบริษัทย่อยอาจจ่ายเงินปันผลหรือให้เงินกู้ยืมแก่บริษัท

ทั้งนี้ หากสมมติฐานว่ากองทุนระดมทุนทั้งหมด 9,000 ล้านบาท กองทุนอาจระดมทุนบางส่วนโดยการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเป็นมูลค่าไม่เกิน 2,000 ล้านบาท และมีส่วนทุนประมาณไม่เกิน 7,000 ล้านบาท ทําให้ส่วนของหน่วยลงทนทุนที่บริษัทฯ จะเข้าลงทุนจะลดลงเป็นประมาณไม่เกิน 2,333 ล้านบาท

สำหรับเงินที่ได้จากการโอนสิทธิรายได้ 17AYH และ HPM ขายให้แก่กองทุน บริษัทจะนําเงินชำระหนี้และเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน 4,150 ล้านบาท ชำระเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันที่กู้มาใช้ซื้อหน่วยลงทุนในครั้งนี้ 33% เป็นเงิน 2,000 ล้านบาทและลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนอื่นๆ ในอนาคต จำนวน 2,850 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ SUPER เปิดเผยว่า คาดว่า การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวมีธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน โดยเบื้องต้นบริษัทฯ มีแผนให้โซลาร์ฟาร์มขนาด 118 เมกะวัตต์ ซึ่ง SUPER ถือหุ้น 10-15% ขายสินทรัพย์เข้ากองทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระหนี้ และรองรับการขยายงานในอนาคต