Highlighted Funds
MGF : เรามองว่าหุ้นเติบโตคุณภาพดี (Quality Growth Stock) จะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงกลางวัฏจักร (Mid-Cycle) และสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาด เนื่องจากหุ้นประเภทนี้มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง มีกำไรและรายได้เติบโตสม่ำเสมอ อีกทั้งยังทนกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นได้ดี
M-EDGE : โอกาสลงทุนในหุ้นที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน และเติบโตอย่างยั่งยืน คัดเลือกลงทุนหุ้นคุณภาพดี สามารถสร้างมูลค่าได้เหนือกว่าดัชนีหุ้นโลก อีกทั้ง กองทุนกระจายการลงทุนไปในธุรกิจที่มี business cycle ต่างกัน และหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เหมาะสมกับภาวะตลาดในปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง
MRENEW : ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานยั่งยืนและพลังงานทดแทนทั่วโลก (Renewable Energy) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนเม็ดเงินของรัฐบาลต่างๆทั่วโลก เราคาดว่าธีมพลังงานสะอาดจะเป็น Mega Trend ที่เติบโตต่อไปอีกในทศวรรษหน้า
MEURO : ตลาดหุ้นยุโรปดัชนี STOXX600 ถูกปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯดัชนี S&P500 นอกจากนี้ Valuation ของตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดย Relative Forward P/E ของดัชนี STOXX600 และดัชนี S&P500 อยู่ที่ -2S.D.
Investment Strategy
สัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 7.0%YoY (ภาพที่ 1) โดยเร่งตัวขึ้นจากระดับ 6.8%YoY ในเดือน พ.ย. และทำระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี อย่างไรก็ตาม จะพบว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงจากระดับ 0.9%MoM ในเดือน ต.ค. และ 0.8%MoM ในเดือน พ.ย. มาที่ระดับ 0.5%MoM ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลงแต่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้การคาดการณ์ของตลาด (Fed Fund Futures) บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 85% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก 0.25% ในการประชุม FOMC เดือน มี.ค. (ภาพที่ 2) ซึ่งตรงกับเดือนที่เฟดจะสิ้นสุดกระบวนการทำ QE Tapering พอดี และเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิมที่ตลาดคาดไว้ในเดือน พ.ค. ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังคงถูกกดดันจากประเด็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบเป็นส่วนใหญ่
จีนรายงาน GDP ไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 4.0%YoY มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 3.3%YoY ทำให้ภาพรวม GDP ทั้งปี 2564 ขยายตัวได้ 8.1% ใกล้เคียงกับคาดการณ์ของตลาด และสูงกว่าตัวเลขเป้าหมายของทางการจีนที่ 6.0%
อย่างไรก็ตามหากดูเป็นรายไตรมาสจะพบว่าการขยายตัวของ GDP มีโมเมนตัมที่ชะลอตัวลงมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 (ภาพที่ 3) ส่งผลให้ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Medium-Term Lending Facility Rate (MLF) ระยะเวลา 1 ปีลง 0.10% สู่ระดับ 2.85% พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินจำนวน 2 แสนล้านหยวน
สอดคล้องกับมุมมองของเราที่มองว่าในระยะข้างหน้าธนาคารกลางจีนจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจจีนถูกกระทบจากการใช้นโยบาย Zero-COVID เพื่อรับมือกับไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงปริมาณสินเชื่อในระะบบเศรษฐกิจที่อยู่ ณ บริเวณจุดต่ำสุดเมื่อเทียบกับวัฏจักรของปริมาณสินเชื่อในอดีตที่ผ่านมา