HoonSmart.com>>คปภ. เผย 15 ผลงานเด่นปี 64 ชูธง “ทิศทางการดำเนินการปี 65 แบบ Proactive ใน 5 มิติหลัก”เพื่อคุ้มครองประชาชนและเสริมความแข็งแกร่งให้ภาคธุรกิจประกันภัย ย้ำระบบประกันภัยไทยยังมีความแข็งแรง และสามารถตอบสนองกับความเสี่ยงและเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปี 2564 เป็นปี “แห่งความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง” เศรษฐกิจและสังคมไทยกําลังเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้บริโภค และความเสี่ยงใหม่ที่รุนแรงขึ้นรวมถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง อีกทั้งยังคงขยายต่อเนื่องไปในปี 2565 ธุรกิจประกันภัย ก็ได้รับผลกระทบในหลายมิติเช่นกัน ขณะที่การทดสอบภาวะวิกฤตล่าสุด ยังคงไม่พบความเสี่ยงในเชิงระบบประกันภัยในภาพรวม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบประกันภัยไทยยังมีความแข็งแรงในเชิงระบบ และสามารถตอบสนองกับความเสี่ยงและเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ตลอดจนประชาชนหันมาให้ระบบประกันภัยเพื่อการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2564 โดยการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจและคนกลางประกันภัย โดยได้รับความร่วมมือที่ดียิ่งจากภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการด้านนโยบายปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่ขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจประกันภัยภายใต้แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564-2568) และวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ “ระบบประกันภัยไทยมีความมั่นคง ยั่งยืนและแข่งขันได้ในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนเข้าถึงการประกันภัยและใช้ประโยชน์ในการรองรับความเสี่ยง” ตามโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ผ่านมาตรการเด่น อาทิ การพัฒนาระบบการยื่นขอรับความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (I-SERFF) ทำให้บริษัทสามารถนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้อย่างทันท่วงที
การดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย ปรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ให้เกิดเพิ่มความคล่องตัวและไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุน ขยายโอกาสในการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลกำไรจากการลงทุน รวมถึงสนับสนุนการลงทุนแบบ Asset Allocation การป้องกันการฉ้อฉลด้านประกันภัย โดยออกประกาศ คปภ. ให้บริษัทยื่นข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยและพฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉล และพัฒนา Fraud database สำหรับการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย การปรับปรุงหลักเกณฑ์ Insurance Regulatory Sandbox ให้มีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสที่กว้างขึ้นสำหรับบริษัทประกันภัย คนกลางประกันภัย Tech Firms และ InsurTech สามารถเข้ามาร่วมโครงการได้มากและหลากหลายขึ้น
การพัฒนา Digital Infrastructure ทั้ง Insurance Bureau System และแพลตฟอร์มกลาง OIC Gateway เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลแบบ Real-Time อาทิ การให้บริการ “กรมธรรม์ของฉัน หรือ MyPolicy” แก่ประชาชนทั่วไปในการตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ที่ตนเองถือครองทั้งหมดของทุกบริษัท และการให้บริการผ่าน OIC Line Official “คปภ. รอบรู้ หรือ @OICconnect” ซึ่งเป็น Chatbot ที่ให้ข้อมูลข่าวสาร และตอบคำถามด้านการประกันภัยให้กับประชาชน โดยในระยะถัดไปจะยกระดับให้ “คปภ. รอบรู้ หรือ @OICconnect” เป็น Super App ที่ให้ข้อมูลและบริการต่าง ๆ แบบ ครบ จบ ในแอพเดียว และการจัดงาน Thailand Insurtech Fair 2021 ครั้งแรกในรูปแบบ Virtual Event ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อว่า ธุรกิจประกันภัยไทยยังจะต้องเผชิญความท้าท้ายและปัจจัยความเสี่ยงจากภายนอกที่มีนัยยะต่อธุรกิจประกันภัยที่ต้องเฝ้าระวัง ติดตามอย่างใกล้ชิดและปรับตัวให้เท่าทันอีก 5 ปัจจัยหลัก คือ
1) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและคงที่ รวมถึงการหดตัวของเศรษฐกิจไทยและหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อผลประกอบการและกำลังซื้อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2) ปัจจัยด้านสังคม ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของไทยก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่ตื่นตัว รักษาสุขภาพ รวมถึงการใช้ internet และ social media ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในระยะถัดไป ความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่ม silver age และผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพจะเพิ่มขึ้นมาก
3) ปัจจัยด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจประกันภัยมากที่สุดอีกปัจจัยหนึ่ง เพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในอนาคต บริษัททุกแห่งต้องมีการปรับตัวและนำเทคโนโลยีมาใช้ บริษัทประกันภัยก็จะเริ่มใช้ AI และ Data analytics เข้ามาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง รับประกัน และพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทน
4) ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเสี่ยงใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงโรคระบาด เช่น COVID-19 ภาวะโลกร้อน ฯลฯ โดยกระแส ESG ถือได้ว่ามาแรงมาก
5) ปัจจัยด้านกฎหมาย ธุรกิจประกันภัยไทยอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง IFRS 17 ที่จะบังคับใช้ ในปี 2567 ส่งผลต่อวิธีการวัดมูลค่าหนี้สิน และการรับรู้รายได้ทางบัญชี รวมถึงภาษีในธุรกิจประกันภัย ตลอดจน พ.ร.บ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะใช้จริงในปี 2565 ซึ่งธุรกิจประกันภัยมีความเกี่ยวโยงกับข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ทิศทางการดำเนินงานในระยะข้างหน้าจะต้องถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลให้ “เท่าทัน” การส่งเสริมการสู่ “Digital Insurance” การสร้าง “Inclusion และ Awareness” รวมถึงการมุ่งสู่ “SMART OIC” เพื่อเอื้ออำนวยให้ธุรกิจประกันภัยสามารถพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างเต็มรูปแบบด้วย 5 มิติหลัก ดังนี้
มิติที่ 1 การเสริมสร้างความทนทานยืดหยุ่นและเสถียรภาพของระบบประกันภัย ซึ่งถือเป็นมาตรการเร่งด่วนในระยะสั้นที่ต้องรีบดำเนินการ โดยสำนักงาน คปภ. จะประเมินสถานการณ์ให้รอบด้าน ทั้งโอกาสและแนวโน้มต่าง ๆ เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการรับกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีและตรงจุด ควบคู่กับการกำหนดมาตรการและแนวทางในการ “ฟื้นฟู” และ “สร้างความเข้มแข็ง” ให้กับธุรกิจ ขั้นตอนต่อไป ต้องติดตามและเฝ้าระวัง Systemic risk และความเสี่ยงทั้งในระบบประกันภัยและระบบการเงิน
มิติที่ 2 การปรับปรุงกฎเกณฑ์และมาตรการให้เท่าทันบริบทที่เปลี่ยนแปลงและปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ โดยการปรับกรอบการกำกับดูแล พัฒนาฐานข้อมูล และเครื่องมือใหม่ รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจ ซึ่งในปี 2565 จะเน้นการพัฒนาเครื่องมือการกำกับดูแล และต่อยอดระบบต่าง ๆ รวมถึงการนำ AI มาช่วยในกระบวนการให้ความเห็นชอบ ควบคู่กับการเพิ่มบทบาทของคณะกรรมการ product governance ของบริษัท และสำนักงาน คปภ. กำลังจะจัดให้มีโครงการ Product Sandbox เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ แนวคิดใหม่ เพิ่มเติมจากโครงการ Insurance Regulatory Sandbox
นอกจากนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จะมุ่งเน้น Customer-centric การปรับปรุงกฎหมายแม่บทต่าง ๆ ซึ่งในระยะถัดไปจะดำเนินการอีก 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรก การป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย และส่วนที่สอง แนวทางการลดต้นทุนในธุรกิจประกันภัย
มิติที่ 3 การส่งเสริม Digital Insurance System ในการ transform ธุรกิจประกันภัย โดยสำนักงาน คปภ. จะเป็น Facilitator สนับสนุนให้ธุรกิจและผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมุ่งเน้นใน 3 ส่วน คือ ส่วนแรก การปรับปรุงหลักเกณฑ์และนโยบายต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ model ธุรกิจใหม่ ๆ ส่วนที่สอง การพัฒนาฐานข้อมูลและ Platform รวมถึงผลักดันการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล และส่วนที่สาม การเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของธุรกิจประกันภัย ซึ่งในปี 2565 การ onsite-inspection บริษัทประกันภัยจะขยายขอบเขตไปสู่การประเมินบริษัทในเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน Cybersecurity และ IT risk
มิติที่ 4 การปรับเปลี่ยนแนวทางการเข้าถึงและสร้างความตระหนัก Insurance literacy ที่มุ่งเน้นประชาชนและภาคธุรกิจ และยกระดับมาตรฐานและบทบาทคนกลางประกันภัย ปรับเปลี่ยนวิธีการ ช่องทาง และพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถถึงกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ทั้ง online และ on ground โดยในปี 2565 สำนักงาน คปภ. จะนำระบบ e-licensing มาใช้เป็นฐานข้อมูลของคนกลางประกันภัยอย่างครบวงจร
มิติที่ 5 การพัฒนาองค์กรมุ่งสู่ SMART OIC ซึ่งสำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างดำเนินงานตามแผน SMART OIC เพื่อการ transform องค์กรสู่ Digital regulators ในทุกมิติ ได้แก่ 1) ความรู้และทักษะด้านดิจิทัล รวมถึง Mindset ของบุคลากร 2) ข้อมูล ซึ่งเป็น resource สำคัญมากที่จะช่วยตัดสินใจด้านกลยุทธ์และขับเคลื่อนระบบประกันภัย 3) การพัฒนา platform หรือ tools เพื่อช่วยยกระดับและอำนวยความสะดวกในการทำงาน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อว่า จากเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในไตรมาสสามของปี 2564 มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสแรก สำหรับธุรกิจประกันภัยไตรมาสสาม (มกราคม-กันยายน 2564) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 631,826 ล้านบาท ขยายตัว 2.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ GDP อยู่ที่ 5.30% แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับจากธุรกิจประกันชีวิต 439,056 ล้านบาท ขยายตัว 2.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับสูงสุด ได้แก่ ประกันชีวิตประเภทสามัญ 270,072 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 4.31% รองลงมาเป็นประเภทกลุ่ม 30,952 ล้านบาท ขยายตัว 2.28% และประกันชีวิตประเภทควบการลงทุน (Unit Linked และ Universal Life) 34,714 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 88.33%
นอกจากนี้ ยังมีเบี้ยประกันภัยรับจากสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ 68,297 ล้านบาท ขยายตัว 7.97% ซึ่งสะท้อนถึงภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่มีเบี้ยประกันภัยรับของธุรกิจประกันวินาศภัย 192,770 ล้านบาท ขยายตัว 4.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ ประกันภัยรถ 104,416 ล้านบาท ขยายตัว 0.94% ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากประกันภัยรถภาคสมัครใจ 92,552 ล้านบาท ขยายตัว 1.46% และภาคบังคับ 13,864 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 2.40% รองลงมา คือ ประกันภัยเบ็ดเตล็ด 73,641 ล้านบาท ขยายตัว 9.49% ตามด้วยประกันอัคคีภัย 7,935 ล้านบาท ขยายตัว 1.87% และประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 4,777 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 22.51%
ทั้งนี้ มีอัตราผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยต่อประชากรอยู่ที่ 39.47% โดยมีเบี้ยประกันภัยรวมต่อจำนวนประชากร 13,128 บาท จากเบี้ยประกันชีวิตต่อจำนวนประชากร 9,212 บาท และเบี้ยประกันวินาศภัยต่อจำนวนประชากร 3,906 บาท ในส่วนสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันภัยรวมทั้งสิ้น 4,215,376 ล้านบาท ขยายตัว 1.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันชีวิต 3,876,369 ล้านบาท ขยายตัว 0.68% และสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัย 339,007 ล้านบาท ขยายตัว 7.43% นอกจากนี้ ธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) 333.78% ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.16% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และธุรกิจประกันวินาศภัยมี CAR 246.86% ปรับตัวลดลง 59.16% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ยังสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด
“สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท และตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อรองรับความต้องการและตอบโจทย์ทุกมิติความเสี่ยงของประชาชน และสร้างบรรยายกาศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตและสภาพคล่อง พัฒนาระบบการกำกับ การตรวจสอบด้านเสถียรภาพการตรวจสอบพฤติกรรมการปฏิบัติและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัยแบบ proactive และ forward looking เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพให้ระบบประกันภัยของประเทศ พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี และฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบประกันภัยของประเทศให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชน มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่ออุตสาหกรรมประกันภัย ได้รับประโยชน์จากระบบประกันภัยอย่างเต็มที่ และสามารถนำระบบประกันภัยมาช่วยในการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ อันจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยไทยและระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ กล่าวในตอนท้าย