HoonSmart.com>>ธุรกิจค้าปลีกแข่งดุเดือดปี 65 “ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก”เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วออกสตาร์ท ซื้อหุ้นธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น “KOUEN” ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ “โอ้กะจู๋ ล่าสุด ใช้เงิน 480 ล้านบาท ซื้อหุ้น 25% ธุรกิจเครื่องดื่มชา “คามุ ที” เพิ่มช่องทางพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ก่อนหน้าต่อสัญญากับ CPALL อีก 10 ปี ด้านราคาหุ้น MAKRO ลงต่อ 0.75 บาท CRC ร่วง 3.70% กลัวเพิ่มทุน ซื้อห้างหรู “เซลฟริดเจส”
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เปิดศึกธุรกิจค้าปลีก หลังเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) 3,000 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 18 บาท รับเงินสุทธิ 53,497 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 บริษัทรายงานการใช้เงินไปทั้งสิ้น 10,127 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและหรือชำระคืนเงินกู้ยืมจำนวน 8,597 ล้านบาท ตามประมาณการการใช้เงิน IPO จำนวน 679-8,597 ล้านบาท รวมถึงการใช้เงินจำนวน 558 ล้านบาทในการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน และขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก 254 ล้านบาท ถือเป็นส่วนน้อยเทียบกับประมาณการจำนวน 9,800 ล้านบาท
ทั้งนี้ นับตั้งแต่บริษัท OR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 11 ก.พ.2564 บริษัทได้เดินหน้าโมเดลเพิ่มธุรกิจไม่ใช่น้ำมัน”นอนออยล์” ซึ่งมีอัตรากำไรสุทธิสูงกว่าการจำหน่ายน้ำมัน(ออยล์) สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทำให้รัฐมีการล็อกดาวน์ ร้านอาหารและเครื่องดื่มหันมาเปิดให้บริการนอกห้าง เป็นโอกาสของสถานีบริการ PTT Station โดยบริษัทได้รายงานการลงทุนทั้งสิ้น 7 รายการ อาทิ บริษัทย่อยร่วมทุนกับบริษัท บลูบิค กรุ๊ป (BBIK) จัดตั้งบริษัท ออร์บิท ดิจิทัล ถือหุ้นสัดส่วน 40% และ 60%ตามลำดับ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดสู่การขยายธุรกิจใหม่ในอนาคต
การต่อสัญญาหลักความร่วมมือการดำเนินธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมัน กับ บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) เพื่อดำเนินการร้านค้า 7-Eleven (ในประเทศไทย) อีก 10 ปี การซื้อหุ้นของบริษัทปลูกผักเพราะรักแม่สัดส่วน 20% ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพแบรนด์ “โอ้กะจู๋” ล่าสุด ได้ใช้เงินไม่เกิน 480 ล้านบาท เข้าลงทุนสัดส่วน 25%ใน บริษัท คามุ คามุ เจ้าของแบรนด์ “คามุ ที” (Kamu Tea)
นายสมยศ คงประเวช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก กล่าวว่า หนึ่งในแนวทางในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจของ OR คือการมองหาโอกาสและช่องทางในการลงทุนทั้งในธุรกิจใหม่และต่อยอดในสิ่งที่ OR มีในปัจจุบัน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน ตามแนวคิด ‘Retailing Beyond Fuel’ รวมทั้งมุ่งพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าด้วยสินค้าใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อแสวงหาโอกาสในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ใหม่ ๆ เพิ่มความหลากหลายและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคยุคใหม่
การเข้าลงทุนใน บริษัท คามุ คามุ เจ้าของแบรนด์ “คามุ ที” แบรนด์เครื่องดื่มไลฟ์สไตล์ของคนไทย ที่โดดเด่นในเรื่องของคุณภาพและรสชาติของวัตถุดิบที่ได้รับการคัดสรรจากแหล่งวัตถุดิบคุณภาพ รวมถึงความหลากหลายของเครื่องดื่ม ถือเป็นการต่อยอดทางธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ชื่นชอบดื่มชาและเครื่องดื่มไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ในการพัฒนา พีทีที สเตชั่น ให้เป็นมากกว่าสถานีบริการน้ำมัน แต่เป็น Living Community ที่จะเชื่อมโยงสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคต้องการให้สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ช่วยเติมเต็มทุกความสุข ตอบโจทย์ทุกความต้องการของทั้งคนเดินทางและผู้คนในชุมชน และให้ทุกคนรู้สึกว่า โออาร์ เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ การร่วมลงทุนกับ บริษัท คามุ คามุ ยังเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสเติบโตทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย โดยการขยายธุรกิจผ่านสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ถือเป็นการส่งเสริมแบรนด์สัญชาติไทย และสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ โออาร์ ที่มุ่งเติมเต็มโอกาสเพื่อการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
ด้านบล.หยวนต้าคาดแนวโน้มกำไรปกติของ OR ในไตรมาสที่ 4/2564 อยู่ที่ระดับ 1,800-2,200 ล้านบาทฟื้นตัวจากไตรมาสที่ 3 จากการคลายล็อกดาวน์ แต่การฟื้นตัวยังคงถูกจำกัดจากการแทรกแซงราคาน้ำมันของภาครัฐ โดยการจำกัดค่าการตลาดน้ำมันดีเซล ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นต่อลิตรลดลง ทั้งนี้ OR มีสัดส่วนการจำหน่ายน้ำมันดีเซลที่ 47% ของปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมในไตรมาสที่ 3
ส่วนแนวโน้มกำไรในปี 2565 สามารถเติบโตได้กว่าปี 2564 ปริมาณขายน้ำมันทั้งในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์เติบโตขึ้น ส่วนธุรกิจนอนออยล์ คาดปริมาณขายเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการขยายสาขาของ คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) และธุรกิจอาหาร&เครื่องดื่มอื่นๆ อย่างไรก็ตามคงราคาเหมาะสมสิ้นเดือนมิ.ย.2565 ที่ 26 บาท คงคำแนะนำ”เทรดดิ้ง”
บล.โนมูระ พัฒนสิน ให้ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 26 บาท สะท้อนการฟื้นตัวของกำไรในปี 2064-2566 ที่ 14% และ P/E 23-29 เท่า คงมุมมองปัจจัยกดดันจากความกังวลค่าการตลาดในภาวะราคาน้ำมันดิบราคาสูง และแนวโน้มกำไรสต็อกที่ลดลงในปี 2565 ขณะที่ปัจจัยบวกจากโครงการลงทุนที่ผ่านมายังมีขนาดเล็ก โดยประเมินทุกๆกำไรขั้นต้นต่อลิตรที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้น 0.05 บาทในระยะยาวจะกระทบราคาเป้าหมายปี 2565 ราว 2 บาท/หุ้น
ด้านการซื้อขายหุ้นค้าปลีกวันที่ 27 ธ.ค. ราคายังคงปรับตัวลงต่อเนื่องแม้ว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล “ช้อปดีมีคืน 2565” โดยบริษัท สยามแม็คโคร (MAKRO) ปิดที่ 41.75 บาท ลดลง 0.75 บาทหรือ -1.76% หลังจากบริษัทนำหุ้นเพิ่มทุนราคา 43.50 บาท เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา รวมถึง บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ราคาปิดที่ 32.50 บาท ลดลง -1.25 บาทหรือ -3.70% เพราะกังวลการเพิ่มทุนเพื่อระดมเงินในการซื้อเครือข่ายห้างหรูระดับซุปเปอร์ลักชัวรี่ในยุโรป “เซลฟริดเจส” มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท เพื่อเสริมทัพธุรกิจมุ่งสู่การเป็นผู้นำค้าปลีกระดับโลก