Highlighted Funds
MGF : เรามองว่าหุ้นเติบโตคุณภาพดี (Quality Growth Stock) จะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงกลางวัฏจักร (Mid-Cycle) และสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาด เนื่องจากหุ้นประเภทนี้มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง มีกำไรและรายได้เติบโตสม่ำเสมอ อีกทั้งยังทนกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นได้ดี
M-EDGE : โอกาสลงทุนในหุ้นที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน และเติบโตอย่างยั่งยืน คัดเลือกลงทุนหุ้นคุณภาพดี สามารถสร้างมูลค่าได้เหนือกว่าดัชนีหุ้นโลก อีกทั้ง กองทุนกระจายการลงทุนไปในธุรกิจที่มี business cycle ต่างกัน และหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เหมาะสมกับภาวะตลาดในปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง
MRENEW : ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานยั่งยืนและพลังงานทดแทนทั่วโลก (Renewable Energy) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนเม็ดเงินของรัฐบาลต่างๆทั่วโลก เราคาดว่าธีมพลังงานสะอาดจะเป็น Mega Trend ที่เติบโตต่อไปอีกในทศวรรษหน้า
MEURO : หลังประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 เราเริ่มเห็นตลาดหุ้นยุโรปดัชนี STOXX600 ถูกปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯดัชนี S&P500 นอกจากนี้ Valuation ของตลาดหุ้นยุโรปยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดย Relative Forward P/E ของดัชนี STOXX600 และดัชนี S&P500 อยู่ที่ -2S.D.
Investment Strategy
ตลาดหุ้นทั่วโลกนำโดยดัชนี S&P500 ฟื้นตัวขึ้นมาใกล้เคียงกับระดับเดิม ณ ช่วงก่อนพบไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน สอดคล้องกับดัชนี VIX Index ที่ปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 20 จุดอีกครั้ง สะท้อนความกังวลของนักลงทุนในตลาดที่เริ่มลดลง หลังจากผู้บริหารบริษัท Pfizer ได้ออกมาแถลงข้อมูลการศึกษาเบื้องต้นว่าวัคซีนของ Pfizer 3 เข็มสามารถเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันในการรับมือกับไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ใกล้เคียงกับกรณีวัคซีน 2 เข็มในการรับมือกับไวรัสสายพันธุ์เดิม รวมถึงเตรียมพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ที่รองรับไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยจะใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 4 เดือน และคาดว่าจะสามารถใช้ได้ในเดือน มี.ค.2565
โดยสัปดาห์นี้ตลาดหันไปโฟกัสที่การประชุมธนาคารกลางในหลายประเทศทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดสหรัฐฯรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 6.8%YoY ทำระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.9%YoY
สำหรับตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะหุ้นจีน A-Share มีการปรับตัวขึ้นโดดเด่นในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนี CSI300 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.14% เรามองว่าตลาดหุ้นจีนในระยะข้างหน้ามีโอกาสเกิด “Positive Surprise” จากการที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) อาจมีการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม คล้ายกับในช่วงปี 2561-2562 ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ Trade War ที่ธนาคารกลางจีนทำการลดอัตราส่วนเงินกันสำรองขั้นต่ำ (Reserve Requirement Ratio) ติดต่อกัน 6 ครั้ง รวมลด RRR ทั้งหมด -4.0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและปริมาณสินเชื่อ (Credit impulse) ที่ชะลอตัวลง ซึ่งตรงกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ปริมาณสินเชื่อในระะบบเศรษฐกิจจีนอยู่ ณ บริเวณจุดต่ำสุดเมื่อเทียบกับวัฏจักรของปริมาณสินเชื่อในอดีตที่ผ่านมา