Highlighted Funds
MGF : เรามองว่าหุ้นเติบโตคุณภาพดี (Quality Growth Stock) จะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงกลางวัฏจักร (Mid-Cycle) และสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาด เนื่องจากหุ้นประเภทนี้มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง มีกำไรและรายได้เติบโตสม่ำเสมอ อีกทั้งยังทนกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นได้ดี
M-EDGE : โอกาสลงทุนในหุ้นที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน และเติบโตอย่างยั่งยืน คัดเลือกลงทุนหุ้นคุณภาพดี สามารถสร้างมูลค่าได้เหนือกว่าดัชนีหุ้นโลก อีกทั้ง กองทุนกระจายการลงทุนไปในธุรกิจที่มี business cycle ต่างกัน และหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เหมาะสมกับภาวะตลาดในปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง
MRENEW : ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานยั่งยืนและพลังงานทดแทนทั่วโลก (Renewable Energy) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนเม็ดเงินของรัฐบาลต่างๆทั่วโลก เราคาดว่าธีมพลังงานสะอาดจะเป็น Mega Trend ที่เติบโตต่อไปอีกในทศวรรษหน้า
MEURO : หลังประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 เราเริ่มเห็นตลาดหุ้นยุโรปดัชนี STOXX600 ถูกปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯดัชนี S&P500 นอกจากนี้ Valuation ของตลาดหุ้นยุโรปยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดย Relative Forward P/E ของดัชนี STOXX600 และดัชนี S&P500 อยู่ที่ -2S.D.
Investment Strategy
สัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้น 210,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ย. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 581,000 ตำแหน่ง แต่อย่างไรก็ตามหากมองตลาดแรงงานในภาพรวมอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องปรับตัวลงสู่ระดับ 4.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.5% ขณะที่ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 0.3%MoM สะท้อนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสหรัฐฯที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในทางอ้อม
สอดคล้องกับมุมมองอัตราเงินเฟ้อของประธานเฟดที่เปลี่ยนไป โดยนายเจอโรม พาวเวล เลิกมองอัตราเงินเฟ้อเป็นเรื่องชั่วคราว และมองแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องไปจน ถึงปีหน้า พร้อมเตรียมพิจารณาลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE Tapering) ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
โดยตลาดคาดว่าเฟดจะประกาศลดการอัดฉีดสภาพคล่องจากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการประชุมนโยบายการเงิน FOMC วันที่ 14-15 ธ.ค.นี้ ซึ่งทำให้เฟดมีแนวโน้มที่จะยุติโครงการซื้อพันธบัตร (QE) ได้ภายในไตรมาส 1 เร็วกว่าเดิมที่ตลาดคาดในไตรมาส 2 และอาจส่งผลให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ถึง 3 ครั้งในปีหน้า)
ธนาคารกลางจีน (PBoC) ประกาศลดอัตราส่วนเงินกันสำรองขั้นต่ำ (Reserve Requirement Ratio) ลงอีก -0.5% นับเป็นครั้งที่ 2 ของปีต่อเนื่องจากครั้งก่อนหน้าในเดือน ก.ค. โดยการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่ตึงตัว และช่วยลดความกังวลจากการผิดนัดขำระหนี้ในภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงอย่างภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะบริษัท China Evergrande Group ที่มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ในระยะถัดไป