SCB EIC ลดเป้าเศรษฐกิจไทยปี 65 เหลือ 3.2% หลังโอมิครอนระบาด

HoonSmart.com>>SCB EIC ลดเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2565 เหลือโต 3.2% จากเดิม 3.4% ผลจากการระบาดของโอมิครอน ฉุดนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงช่วงปลายปีนี้ถึงไตรมาสแรกปี65 ส่วนปี 2564 โตดีกว่าคาดที่ 1.1% จากเดิม 0.7% ระบุเศรษฐกิจไทยขยายตัวเท่าก่อนเกิดโควิดกลางปี 2566

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Centerธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตที่ 3.2% ลดลงจากเดิมที่ 3.4% ผลของการระบาด COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ถึงช่วงไตรมาสแรกปีหน้า โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้อยู่ที่ 3 แสนคน ส่วนปี 2565 อยู่ที่ 5.9 ล้านคน ลดลงจากเดิมคาด 6.3 ล้านคน

ส่วนการส่งออกสินค้ายังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยปี 2564 ขยายตัว 16.3% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 15.0% ปี 65 ขยายตัว 3.4% ลดลงจากเดิมที่คาด 4 .7%

ทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มปรับอ่อนค่าในระยะสั้นตามความเชื่อมั่นที่ลดลง ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปี 2565 เงินบาทอาจปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยแตะที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลลดลง และเงินทุนไหลเข้า

ด้านนโยบายการเงิน EIC คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี2565 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางภายใต้เงินเฟ้อที่แม้จะเร่งตัวแต่ยังอยู่ในกรอบนโยบาย

“การฟื้นตัวในภาพรวมยังเป็นไปอย่างช้า ๆ จากร่องรอยแผลเป็นเศรษฐกิจในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านรายได้ครัวเรือนจากตลาดแรงงานที่ซบเซา และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ส่วนภาครัฐยังคงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลือประมาณ 2.6 แสนล้านจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในระดับก่อน COVID-19 น่าจะเป็นช่วงกลางปี 2566” ดร.ยรรยง กล่าว

ดร.ยรรยง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ ได้แก่ (1) การระบาด COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงขึ้น (2) การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นและปัญหาคอขวดอุปทานโลก ส่งผลกระทบทางตรงต่อกำลังซื้อในประเทศที่ลดลงและทางอ้อมผ่านภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นเร็วโดยเฉพาะหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าคาด (3) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มากกว่าคาดจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และ (4) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง