TRUE-DTAC กลายพันธุ์ “บริษัทเทค” มาร์เก็ตแชร์ 40%

HoonSmart.com>> “เครือซีพี” -“กลุ่มเทเลนอร์” ร่วมมือปรับโครงสร้างองค์กร”ทรู-ดีแทค” เป็นบริษัทใหม่  Tech Company คาดตรวจสอบกิจการเสร็จไตรมาส 1/65  ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่ากิจการ รายได้หลัก 2 แสนล้านบาท EBITDA 8.3 หมื่นล้านบาท แย่งส่วนแบ่งการตลาด 40% ขึ้นเป็นเบอร์ 2 รองจาก AIS พร้อมตั้งกองทุน 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ ลุยลงทุนบริษัท สตาร์ทอัพไทยและที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย  ศึกษาเทคโนโลยีอวกาศ ปั้นฮับเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย  ราคาหุ้นกระโดดรับข่าวดี  ADVANC วิ่งด้วย หวังธุรกิจมือถือแข่งขันน้อยลง

วันที่ 22 พ.ย.2564 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยการสนับสนุนให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของทรู และดีแทค จะยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท ในขณะที่เครือซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู และกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค  ถือหุ้นเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่(ซิทริน โกลบอล -Citrine Globa) ที่จะร่วมกันสร้างขึ้น  และแลกหุ้นในอัตราหุ้นทรู 10.221 หุ้น เท่ากับหุ้นดีแทค 1 หุ้น นอกจากนี้ ทรูและดีแทคจะดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ (Due Diligence) การขออนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จ

ทั้งสองบริษัทได้เริ่มเข้าสู่การตรวจสอบกิจการ (Due Diligence) คาดว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1/2565 จากนั้นจะร่วมลงนามสัญญาข้อตกลงและเงื่อนไขทางธุรกิจที่มีผลทางกฏหมาย และเข้าสู่กระบวนการทำคำเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Tender Offer)

ทั้งเครือซีพีและ กลุ่มเทเลนอร์ ต่างมั่นใจและเห็นตรงกันว่า การสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันในครั้งนี้ จะช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประชาชนไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้สำเร็จตามเป้าหมาย

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  อุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecom Landscape) ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่ และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคเข้ามาเสนอรูปแบบบริการดิจิทัลมากขึ้น  ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการพัฒนาการให้บริการเครือข่าย ให้เป็นอัจฉริยะแล้ว ยังต้องเสริมศักยภาพและความรวดเร็ว ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากโครงข่ายการสื่อสารและส่งมอบเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ให้กับลูกค้า ทำให้การปรับโครงสร้างของบริษัทไทยสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกได้นั้น ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

“บริษัทใหม่ที่จะถูกตั้งขึ้น จะเป็นการเพิ่มมูลค่า และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย และคนไทย รวมถึงยังเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับฐานลูกค้าของทั้งสองฝ่าย ให้สามารถเข้าถึงการบริการและเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยโทรคมนาคม  จะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติม เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), IoT, Cloud เป็นต้น จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจกับทุกบริษัททั่วโลก ซึ่งเรียกว่า การปฎิวัติเชิงเทคโนโลยี  และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) โดยการจัดตั้งกองทุนร่วมทุน( Venture Capital) ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทย และสตาร์ทอัพไทยและที่ตั้งในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

ด้านนายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ เปิดเผยว่า อนาคตจะเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนถ่ายทางเทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งจะเปลี่ยนวิถีชีวิต และการทำธุรกิจของทุกคน โดยทั่วโลกมีการแข่งขันกันหมด บริษัทฯจึงเล็งเห็นความสำคัญในการที่ต้องสร้างความร่วมมือในครั้งนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้

ความร่วมมือในครั้งนี้จะนำสิ่งที่ TRUE และ DTAC มีอยู่ มาร่วมกันสร้างความแข็งแกร่ง และเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมระดับโลกใหม่ๆ ซึ่งบริษัทใหม่คาดว่าจะมีรายได้ในระดับ 200,000 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 83,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 40% ซึ่งผู้นำตลาดยังคงเป็น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS  ทั้งนี้ในปี 2563  AIS มีรายได้รวม 172,890 ล้านบาท และ EBITDA ( pre-TFRS16) เท่ากับ 76,619 ล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทใหม่จะจัดตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยกันสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ รวมถึงให้เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สำหรับการก้าวเข้าสู่ระบบนิเวศน์ดิจิทัล

รูปแบบการควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC  โดยเครือซีพีและ Telenor Asia จัดตั้งบริษัทร่วมทุน คือ ซิทริน โกลบอล ซึ่งจัดทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้น TRUE ในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 5.09 บาท  และ DTAC ในราคาหุ้นละ 47.76 บาท ชำระโดยการแลกหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้น TRUE ในอัตราส่วน 1ต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่และ 1 หุ้นเดิมใน DTAC ต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่ กำหนดจากสมมุติฐานว่า ภายหลังการควบบริษัท บริษัทใหม่จะมีหุ้นออกและจําหน่ายแล้วทั้งหมด จํานวน 138,208,403,204 หุ้น โดยมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

ด้านราคาหุ้น TRUE  กระโดดขึ้นปิดที่ 4.76 บาท +0.44บาท หรือ+10.19%  DTAC  ปิดที่  45  บาทเพิ่มขึ้น 3.75 บาทหรือ+9.09% และ ADVANC  ปิดที่
209 บาท  +13 บาทหรือ  +6.63%  และ INTUCH ปิดที่ 78.75 บาท +2.75บาทหรือ+3.62% รวมการซื้อขายทั้งสิ้น 24,444 ล้านบาท  คิดเป็นประมาณ 325.87% ของมูลค่าซื้อขายทั้งตลาด 94,488  ล้านบาท ส่งผลให้ดัชนีตลาดรหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 4.48 จุดปิดที่ 1,649.54 จุด