RMF หุ้นต่างประเทศผลตอบแทนเด่น “เวียดนาม” สูงสุด 65% รอบ 1 ปี

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์” เผยกองทุน RMF ลงทุนหุ้นต่างประเทศกวาดแชมป์สร้างผลตอบแทนสูงสุดรอบ 1 ปี, 3 ปีและ 5 ปี ด้าน “กองทุนหุ้นเวียดนาม” โชว์ผลตอบแทนสูงสุดรอบ 1 ปีอยู่ที่ 65% แนะนักลงทุนจัดพอร์ตกระจายลงทุน มองไทยเปิดประเทศดันเศรษฐกิจฟื้นหนุนหุ้นไทย

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผย “HoonSmart” ว่า ภาพรวมกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในรอบ 10 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.65 แสนล้านบาท เติบโต 10.9% จากสิ้นปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการเติบโตของกองทุน RMF ที่เป็นกองทุนตราสารทุน ซึ่งมีเม็ดเงินไหลเข้าลงทุนยังคงสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีที่มาจากเม็ดเงินการลงทุนกองทุนต่างประเทศที่กำลังเติบโต มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 10 เดือนรวม 7.0 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าเกือบ 6 พันล้านบาท

ด้านผลตอบแทนของกองทุน RMF จาก 10 อันดับกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุด ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค.2564 พบกองทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศสร้างผลตอบแทนได้ดีทั้งในช่วงเวลา 1 ปี 3 ปีและ 5 ปี สูงกว่าลงทุนในหุ้นไทย ซึ่งมีทิศทางเดียวกับกองทุนรวมที่เห็นเม็ดเงินไหลเข้าลงทุนหุ้นทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในปีนี้ แต่หลังจากทางการจีนเข้ามาจัดระเบียบภาคธุรกิจฉุดตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลง ภาพรวมผลตอบแทนตลาดต่างประเทศเริ่มแผ่วลง ขณะที่กองทุนหุ้นเวียดนามทำผลตอบแทนได้ดีมาก แต่ก็เป็นตลาดที่มีความเสี่ยงเฉพาะตัว มีความผันผวนสูง นักลงทุนจึงต้องระมัดระวังการลงทุนและไม่ลงทุนกระจุกตัว

สำหรับ 10 อันดับกองทุน RMF ผลตอบแทนสูงสุดรอบ 1 ปี ได้แก่ กองทุนเปิดแอสเซทพลัส เวียดนาม โกรท เพื่อการเลี้ยงชีพ อยู่ที่ 64.85% ข้อมูล ณ วันที่ 18 พ.ย.2564 รองลงมากองทุนเปิดลัวหลวง หุ้นอินเดียมิดแคป เพื่อการเลี้ยงชีพ อยู่ที่ 53.92% และกองทุนเปิดเค Mid Small Cap หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ 45.97% กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอล เทคโนโลยี อิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ 45.35% (ข้อมูลตามกราฟฟิก)

ทั้งนี้ กองทุนหุ้นเวียดนามนอกจากสร้างผลตอบแทนสูงสุดรอบ 1 ปีแล้วยังคงสร้างผลตอบแทนสูงสุดในกลุ่ม RMF หุ้นต่อเนื่องในปี 2564

ขณะที่กองทุนเปิดแอสเซทพลัส เวียดนาม โกรท เพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุน RMF เพียงกองทุนเดียวในอุตสาหกรรมที่ลงทุนในหุ้นเวียดนาม จนกลางเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาบลจ.วรรณ ได้ออกกองทุนเปิดวรรณ เวียดนาม อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ ชนิดทั่วไป และบลจ.บัวหลวง เตรียมเปิดขาย IPO กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเวียดนามเพื่อการเลี้ยงชีพ ในวันที่ 23 พ.ย.นี้

น.ส.ชญานี กล่าวว่า ปัจจุบันมีกองทุนหุ้นเวียดนามที่เป็นกองทุนรวมและกองทุน RMF รวมทั้งสิ้น 10 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 2.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนต.ค.2564 โดยกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรินซิเพิลและบลจ.กสิกรไทย มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกว่า 50% ของกองทุนหุ้นเวียดนามทั้งหมด โดยบลจ.พรินซิเพิลมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 7 พันล้านบาทและบลจ.กสิกรไทย 5 พันล้านบาท

“บลจ.พรินซิเพิล เป็นรายแรกที่ออกกองทุนหุ้นเวียดนามเมื่อปี 2560 ได้ผลตอบรับดีจากนักลงทุนจนปัจจุบันมีขนาดใหญ่สุดในกลุ่มกองทุนหุ้นเวียดนามและมีกองทุนใหม่ทยอยออกมา หลังจากนั้นเริ่มนิ่งและเริ่มมาออกอีกหลายกองทุนในปี 2564 นี้ทั้งที่เป็นกองทุนรวมและกองทุน RMF”น.ส.ชญานี กล่าว

ทั้งนี้ บลจ.พรินซิเพิล ได้เปิดขาย IPO กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม ไทย ออพพอร์ทูนิตี้ เมื่อวันที่ 10-17 พ.ย.2564 บลจ.วรรณ เปิดขาย IPO กองทุนเปิดวรรณ เวียดนาม อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ ในวันที่ 1-11 พ.ย.2564

ขณะที่บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อยู่ระหว่างเสนอขาย IPO กองทุนเปิด แอล เอช เวียดนาม จนถึงวันที่ 26 พ.ย.2564 และบลจ.บัวหลวง เตรียมเปิดขายกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเวียดนามเพื่อการเลี้ยงชีพ ระหว่าง 23-30 พ.ย.2564 หลังออกกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเวียดนามไปเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา


น.ส.ชญานี กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนที่จะลงทุนกองทุน RMF เพื่อลดหย่อนภาษีในปีนี้ ยังคงแนะนำให้กระจายการลงทุน ไม่กระจุกตัวในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งหรือลงทุนในตลาดหุ้นหรือกลุ่มหุ้นใดมาก รวมทั้งดูความเสี่ยงของตัวเอง เพื่อจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม

“แนะนำให้ดูพอร์ตของตัวเองว่ามีการลงทุนในต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน หากลงทุนมากก็อาจกระจายลงทุนในหุ้นไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในปีนี้และปีหน้าได้”น.ส.ชญานี กล่าว

ในส่วนของกองทุนหุ้นไทยมีเงินไหลออกต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะกองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ (Large-Cap) ขณะที่กองทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก (Equity Small/Mid-Cap) ยังสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่นในปีนี้

ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทุนกลุ่ม Equity Small/Mid-Cap หรือกองทุนหุ้นไทยขนาดกลาง-เล็ก เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 6.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับทั้งอุตสาหกรรมที่มูลค่า 4.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเพียงสัดส่วน 1.6%

การลงทุนของกองทุน Equity Small/Mid-Cap มีสัดส่วนการลงทุนสูงสุดในกลุ่มการเงิน โดยในรอบครึ่งปีแรกนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ 17.3% ตามมาด้วยกลุ่ม Consumer Cyclical ที่ 11.9% ที่เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับในอดีตคือเป็น sector ที่มีสัดส่วนการลงทุนสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีการลงทุนโดยรวมมีการกระจายในหลายอุตสาหกรรมในสัดส่วนที่สูงขึ้น เห็นได้จากในช่วง 10 ปีที่แล้วอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการลงทุนต่ำสุดจะอยู่ที่ระดับ 1% เทียบกับปัจจุบันที่ต่ำสุดราว 5%-6% ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และ Healthcare เป็นต้น

อ่านข่าว

“บล.บัวหลวง” ชวนลดหย่อนภาษีปี 64 ผ่าน SSF-RMF ชู 4 ธีมหลัก

บลจ.กสิกรฯชวนลงทุน SSF-RMF ดาวเด่นเน้นเก็บออม ปลื้ม K-CHANGE-SSF แชมป์ขายดี

KTAM ชวนวางแผนภาษีโค้งสุดท้าย ชูกอง “มั่งมีศรีสุข” กระจายลงทุนลดเสี่ยง

“พรินซิเพิล” มองเศรษฐกิจเวียดนามแกร่ง ส่งกองทุนใหม่ขาย 10-17 พ.ย.นี้

หุ้นเวียดนามกระแสแรง “B-VIETNAM” กวาดยอด IPO กว่า 1.7 พันลบ.