HoonSmart.com>> “ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์” คาดปี 65 รายได้เพิ่มอีก 1 พันล้านบาท แตะ 5.7-5.8 พันล้านบาท รับรู้ผลงานอินโดฯเต็มปี มั่นใจผ่านจุดคุ้มปีแรก ส่วนปากีสถาน-ในประเทศโตต่อเนื่อง ไตรมาส 4 หนุนรายได้ทั้งปีโตเข้าเป้า 15% กำไรขั้นต้นดีขึ้น ตั้งเป้าปี 67 สัดส่วนต่างประเทศ แตะ 20-25% และปี 69 รายได้ทะยาน 1 หมื่นล้านบาท มีมาร์เก็ตแคป 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มเท่าตัวจากปัจจุบัน
นายบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอีก 1,000 ล้านบาท อยู่ที่ 5,700-5,800 ล้านบาท จากปี 2564 คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 4,700-4,800 ล้านบาท มาจากในประเทศกว่า 300 ล้านบาท รายได้ที่อินโดนีเซียอีก 400 ล้านบาท และปากีสถานกว่า 200 ล้านบาท ส่วนเงินลงทุนวางไว้ 300 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงลายการผลิตโรงงานอาหารกุ้ง ที่มหาชัย
ส่วนโรงงานในประเทศอินโดนีเซีย จะเริ่มทดสอบการผลิตในเดือน ธ.ค.นี้ และเริ่มผลิตเต็มปีในปี 2565 เบื้องต้นในปีแรกจะใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 10,000-12,000 ตัน และสามารถผ่านจุดคุ้มทุนได้ (Break Even Point) ภายในปีแรก และคาดว่าจะใช้กำลังการผลิตมากกว่า 30,000 ตัน ตั้งแต่ปี 2567 จากกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 36,000 ตันต่อปี ส่วนที่ประเทศปากีสถาน เติบโตขึ้นต่อเนื่อง บริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตอีก ประมาณ 50% อยู่ที่ 15,000 ตันต่อปี ในเดือน ก.พ.2565 จากกำลังการผลิตเดิมที่ 10,000 ตันต่อปี
แนวโน้มไตรมาส 4/2564 คาดว่าจะมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง และรายได้ตามเป้าหมายที่เติบโต 15% โดยบริษัทผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในอนาคต จากปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มผลตอบแทนการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) และการจัดพอร์ตผลิตภัณฑ์ เพิ่มสินค้าที่มีความสามารถทำกำไรสูง ส่งผลให้กำไรสุทธิดีขึ้น
“เรายอมรับว่าปี 2564 เป็นปีที่แย่ที่สุดในรอบ 5 ปี เราคาดว่าจะเติบโตขึ้นกว่านี้ ปี 2565 ก็เริ่มเห็นภาพที่สดใสขึ้น จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งวางเป้าหมายในปี 2567 มีรายได้ในประเทศ 70-75% ต่างประเทศ 20-25% และปี 2569 รายได้โตระดับ 8,000-10,000 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) โตระดับ 12,000-15,000 ล้านบาท จากปัจจุบันประมาณ 7,000 ล้านบาท” นายบรรลือศักร กล่าว
นอกจากนี้บริษัทมีแผนจะร่วมมือกันทางธุรกิจ กับบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (i-Tail) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงของกลุ่มไทยยูเนี่ยน บริษัทจะรับจ้างผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงบางส่วนให้กับลูกค้าของ i-Tail คาดว่าจะเห็นความชัดเจนของความร่วมมือดังกล่าว รวมถึงแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ i-Tail ด้วย