TTA โชว์กำไร 1,614 ลบ. พุ่ง 219% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รับค่าระวางเรือพุ่ง

HoonSmart.com>> “โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์” กำไรไตรมาส 3/64 พุ่งกระฉูด 219% แตะ 1,614.4 ล้านบาท กวาดรายได้ 5,947.7 ล้านบาท เติบโต 83% จากงวดปีก่อน อานิสงส์กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือเติบโตโดดเด่น รับอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่าทศวรรษ

บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/2564 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่าทศวรรษจำนวน 1,614.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 204% จากไตรมาสก่อน และ 219% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสที่ 3/2564 โดยมีรายได้เติบโตจำนวน 5,947.7 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3/2564 เพิ่มขึ้น 16% จากไตรมาสก่อน และ 83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่าทศวรรษ

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มการลงทุนอื่น มีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 59%, 14%, 14%, 9% และ 4% ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ กำไรขั้นต้นก่อนหักค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น 75% จากไตรมาสก่อน และ 193% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 2,479.6 ล้านบาท ส่วน EBITDA เติบโต 91% จากไตรมาสก่อน และ 486% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 1,935.8 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ รายได้จากค่าระวางของโทรีเซน ชิปปิ้ง ในไตรมาสที่ 3/2564 อยู่ที่ 3,489.5 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 202 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ อัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์ในไตรมาสที่ 3/2564 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 34,269 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของกองเรือที่จำกัด ความต้องการถ่านหินและสินค้าเทกองย่อยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความแออัดของท่าเรือที่ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 3/2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 85% จากไตรมาสก่อน และ 196% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 33,842 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน สูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิที่ 32,556 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อยู่ร้อยละ 4 โดยเรือที่โทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของมีอัตราการใช้ประโยชน์เรือสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 100 และมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าสูงสุดเท่ากับ 53,160 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของเรือ (OPEX) ลดลงร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน อยู่ที่ 3,861 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอยู่ 14%

บริษัทฯ มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ จำนวน 1,769.2 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3/2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 163% จากไตรมาสก่อน และ 685% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นเจ้าของเรือ 24 ลำ (เรือซุปราแมกซ์ 22 ลำ และเรืออัลตราแมกซ์ 2 ลำ) มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,913 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 13.5 ปี ณ สิ้นไตรมาส

จากบทวิเคราะห์ของ Clarksons คาดการณ์การเติบโตของการค้าสินค้าแห้งเทกองที่ร้อยละ 4.1 ในหน่วยตันหรือ 4.8% ในหน่วยตัน-ไมล์ สำหรับทั้งปี 2564 เนื่องจากการฟื้นตัวของความต้องการถ่านหินและสินค้าเทกองย่อย และคาดการณ์การเติบโตของการค้าสินค้าแห้งเทกองที่ 2.4% ในหน่วยตัน-ไมล์ สำหรับปี 2565

สำหรับอุปทานเรือเทกอง การสั่งต่อเรือใหม่มีจำนวนต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 6% ของกองเรือทั้งหมด ต่ำสุดในรอบ 30 ปี ปัจจุบันคาดว่าการขยายกองเรืองจะชะลอตัวลงเหลือ 3.5% ในหน่วยเดดเวทตัน (DWT) ในปี 2564 และ 1.5% ในปี 2565 โดยรวมแล้วการเติบโตของการค้าสินค้าแห้งเทกองสูงกว่าการขยายกองเรือซึ่งสะท้อนถึงดุลยภาพของปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมเรือเทกอง อย่างไรก็ตาม หากมีกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปทั่วโลกได้อย่างทั่วถึง

กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งมีมูลค่างานให้บริการที่รอส่งมอบ (order book) ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/2564 คิดเป็นมูลค่า 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร รายงานผลกำไรต่อเนื่อง โดยมีปริมาณการส่งออกปุ๋ยปรับขึ้น 113% จากไตรมาสก่อน

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2564กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) เฉลี่ยสูงกว่าค่าระวางตลาดสุทธิ โดยมีกำไรทั้งจากเรือที่กลุ่มธุรกิจฯ เป็นเจ้าของและเรือที่เช่ามาเสริม ส่วนกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งยังคงมีกำไรขั้นต้นเป็นบวกและมีมูลค่างานให้บริการที่รอส่งมอบ (order book) ที่แข็งแกร่ง ประกอบกับธุรกิจให้บริการวางสายเคเบิลใต้ทะเลมีจุดยืนที่มั่นคงพร้อมที่จะเสนออัตราค่าบริการให้แก่ลูกค้าในระดับที่แข่งขันกับตลาดได้

ด้านกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรยังคงสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องเช่นกัน จากราคาขายปุ๋ยที่สูงขึ้น และยอดขายผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการเกษตรประเภทอื่น (pesticide) ที่เพิ่มขึ้น

“นับจากนี้ บริษัทฯ มั่นใจว่าธุรกิจต่างๆ มีแนวโน้มที่ดี และจะเดินหน้าขยายการลงทุน ทั้งเพื่อรองรับแผนการเติบโตระยะยาวของบริษัทฯ และเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของบริษัทในเครือ”นายเฉลิมชัย กล่าว