“บิสซิเนสอะไลเม้นท์” เผยปัจจุบันตุนงานในมือกว่า 1.61 พันล้านบาท รับรู้รายได้ยาวถึงปี’ 63 พร้อมเดินหน้าประมูลงานใหม่ต่อเนื่อง มั่นใจหนุนรายได้โตกว่าปีก่อน ด้านรพ.แคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา พร้อมเปิดให้บริการปี 2562 ตามแผน ต่อยอดธุรกิจเสริมทัพความแข็งแกร่ง
นายสมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ (BIZ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ตุนงานในมือ (ณ วันที่ 31 ก.ค.61) แล้วกว่า 1,610 ล้านบาท โดยคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ไปจนถึงปี 2563 นอกจากนี้ บริษัทฯยังเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโตกว่าปีก่อน
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงพยาบาลแคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี มูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท ขณะนี้ได้ออกแบบโครงสร้างอาคารและลงเสาเอกเป็นที่เรียบร้อยและคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 ตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งนี้โรงพยาบาลดังกล่าวการรักษาแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ การรักษาโดยการฉายรังสี (Radiotherapy) และการรักษาด้วยเคมีบำบัด (chemotherapy) ซึ่งมุ่งเน้นการควบคุมคุณภาพการรักษาให้ได้มาตรฐาน โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณภาพด้านมะเร็งโดยเฉพาะ รวมถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ BIZ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 65 โรงพยาบาลมีขนาดการให้บริการรองรับผู้ป่วยแบบพักค้างคืน จำนวน 30 เตียง , และมีเครื่องฉายรังสีเริ่มต้น จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จและช่วยสนับสนุนผลประกอบการของบริษัทฯให้แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า การลงทุนโรงพยาบาลครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดธุรกิจจากการจำหน่ายและติดตั้งเครื่องมือแพทย์ทางด้านการฉายรังสี ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจในระยะยาว และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และกระแสเงินสดให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการเข้ารับการรักษาให้กับผู้ป่วย ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยที่มาจากโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากปัจจุบันภาคตะวันออกมีโรงพยาบาลภาครัฐเพียงแห่งเดียวที่เปิดให้บริการและมีเครื่องมืออุปกรณ์พร้อมสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง
นายวรวิทย์ สีลภูสิทธิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินและบัญชี บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดเครื่องฉายรังสียังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่เครื่องมือในการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงยังขาดแคลนอยู่อีกมาก ส่งผลให้ความต้องการเครื่องมือดังกล่าวอยู่ในระดับสูง โดยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งของไทยในปี 2563 มีอยู่ราว 150,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดปี 2568 มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็ง จำนวน 168,000 ราย