KTAM Focus : CHINABOND “On Sale” ต้อนรับสัปดาห์ 11.11

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย (KTAM)

ธุรกิจอสังหาฯจีนเผชิญความท้าทายด้านสภาพคล่อง กดดันบรรยากาศตลาดจีนทั้งหุ้นและบอนด์ช่วงต้นเดือน พ.ย.

ตลาด High Yield ภาคอสังหาฯจีนเกือบจะ “แช่แข็ง” ข้อมูลตามรายงานของ Bloomberg เผยเดือน ต.ค. มีเพียง 6 บริษัทเสนอขายตราสารใหม่มูลค่ารวมแค่ $1.25 พันล้าน ต่ำสุดในรอบปีครึ่ง วิกฤตความเชื่อมั่นจากปัญหา Evergrande ขาดสภาพคล่อง ดันค่าเฉลี่ยยีลด์ตราสารหนี้ผลตอบแทนสูง (high yield) สกุลดอลลาร์ของจีนพุ่งทะลุ 20% “แพงเกินไป” สำหรับบริษัทส่วนใหญ่ที่จะรีไฟแนนซ์ ส่งผลให้ผู้พัฒนาอสังหาฯอย่างน้อย 4 รายผิดนัดชำระเมื่อเดือนก่อน ขณะยอดขายและราคาบ้านปรับตัวลง แถมยังมีหนี้สินครบกำหนดรออยู่อีกเยอะในเดือนนี้และช่วงที่เหลือของปี

นักลงทุนหลายค่ายเห็นโอกาส Morgan Stanley ชี้ระดับราคา high yield จีนสะท้อนความเสี่ยงขาลงรุนแรงเกินความเป็นจริง Citibank ชอบหุ้นกู้อสังหาฯคุณภาพสูง ขณะผู้เชี่ยวชาญตราสารที่อยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ (distressed debt) อย่าง Marathon Asset Management ถึงกับกระโจนเข้าใส่หุ้นกู้ Evergrande เพราะเชื่อว่า อัตราเรียกคืน (recovery rates) ของจริงน่าจะสูงกว่าที่สะท้อนในราคาตลาด

“การผิดนัดชำระหนี้” ช่วยพัฒนาตลาดในระยะยาว โดยกระตุ้นให้บริษัทจีนเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และราคาตราสารสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ บางบริษัทได้ลดภาระหนี้สินด้วยวิธีต่างๆ อาทิ ขอซื้อคืนหุ้นกู้ถูกกว่าราคาหน้าตั๋ว ชำระหนี้ก่อนครบกำหนด ตลอดจนให้คำมั่นว่าจะไม่ก่อภาระผูกพันด้วยธุรกรรมนอกงบดุลอีก เป็นต้น

KT-CHINABOND มีตราสาร high yield เพียงส่วนน้อยไม่ถึง 1/3 ของพอร์ต กองทุนหลัก BGF China Bond Fund เน้นลงทุนตราสารหนี้จีนสกุลหยวน ใช้กลยุทธ์ Go Anywhere Approach ขอบเขตการลงทุนกว้างขวางครอบคลุมตลาดบอนด์จีนทั้ง onshore และ offshore กระจายความเสี่ยงได้ทั่วสเปกตรัมของ credit ratings ตราสารส่วนใหญ่ราว 2/3 ของพอร์ตมีอันดับความน่าเชื่อถือ “ระดับลงทุน” (investment grade คือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป) และมี high yield ประมาณ 29% ณ สิ้นเดือน ต.ค. credit ratings เฉลี่ยทั้งพอร์ต BBB-

มุมมองตลาดและสถานะลงทุนจากทีมบริหารกองทุนหลัก (แหล่งข้อมูล BlackRock เรียบเรียงโดยผู้เขียน)

+ พัฒนาการสำคัญไม่นานมานี้ Evergrande ชำระคูปองหุ้นกู้ offshore ก่อนหมดเวลาผ่อนผัน จึงคาดว่าบริษัทฯจะพยายามจ่ายคูปองตราสารฉบับอื่นๆต่อไป ภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมดูดีขึ้นเพราะแสดงถึงความตั้งใจปฏิบัติต่อเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันอย่างเป็นธรรม สะสางปัญหาได้ทันท่วงทีและเป็นมิตร ช่วยลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระเป็นวงกว้าง

+ กลางเดือน ต.ค. รายงานข่าวเผยจีนเริ่มผ่อนคลายภาคอสังหาฯ สั่งแบงก์พาณิชย์เร่งอนุมัติสินเชื่อบ้าน ปลดล็อคให้ออกตราสาร RMBS เพื่อขยายวงเงินปล่อยกู้ ขณะธนาคารกลาง (PBOC) ออกโรงรักษาเสถียรภาพตลาด โดยยืนยันว่าความเสี่ยง Evergrande ควบคุมได้ (controllable) พร้อมกำชับให้บรรดาบริษัทอสังหาฯปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และชำระเงินกู้

+ ไม่เชื่อว่าผู้กำหนดนโยบายจีนจะตั้งใจลดหนี้อสังหาฯแบบไร้ระเบียบจนส่งผลลุกลามไปยังภาคส่วนอื่นๆของเศรษฐกิจ

+ ตลาดใกล้จุดต่ำสุด แม้ความเสี่ยงเฉพาะตัวของบริษัทที่อ่อนแอยังคงอยู่ ทว่าทิศทางนโยบายเริ่มชัดช่วยจำกัดความเสี่ยงลุกลาม น่าจะหนุนราคา high yield ระดับบนสุด (BB) รวมถึงตราสารเกรด B บางตัวที่แข็งแรง อย่างไรก็ตาม ตลาดรอสัญญาณนโยบายที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวเป็นวงกว้าง ระหว่างนี้ผู้พัฒนาอสังหาฯบางรายที่ขาดสภาพคล่องก็คงต้องเจรจากับเจ้าหนี้ โดยสถานการณ์น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

+ ในเมื่อรัฐบาลจีนไม่อยากให้ปัญหาลามไปกระทบภาคส่วนอื่นๆ จึงคาดว่าผู้กำหนดนโยบายจะเข้าแทรกแซงเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางสังคม (คนตกงาน โครงการสร้างไม่เสร็จ) ความเสี่ยงทางการเงิน (ขาดสภาพคล่อง ลุกลามไปยัง wealth management products) และความเสี่ยงด้านการคลังของรัฐบาลท้องถิ่น (พวกที่พึ่งพารายได้จากการขายที่ดิน)

+ กองทุนหลักปรับพอร์ตส่วนนี้ (real estate high yield) มุ่งไปหาตราสารคุณภาพสูงและอายุคงเหลือน้อย ส่วนบริษัทที่สภาพคล่องตึงตัวก็ติดตามใกล้ชิดและทำแผนเข้าร่วมปรับโครงสร้างเชิงรุก เพื่อแน่ใจว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีในสถานการณ์เช่นนั้น ผู้พัฒนาอสังหาฯส่วนใหญ่ที่ปรับโครงสร้างน่าจะดำเนินกิจการต่อไป แต่คงต้องพักชำระหนี้ช่วงที่ขาดสภาพคล่อง

+ พอร์ตล่าสุดอันดับความน่าเชื่อถือเฉลี่ย BBB- ยีลด์เฉลี่ย 8% ในสกุลหยวน เพียงพอที่จะรองรับแรงกระแทก ณ สิ้นเดือน ต.ค. มีสัดส่วน onshore 55.56% และ offshore 38.89% โดยตราสาร onshore ช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่พอร์ต

+ บริษัทอสังหาฯส่วนใหญ่ที่ลงทุนอยู่ในโซน “สีเขียว” (ผ่านเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ) และ “สีเหลือง” (ผ่านเกณฑ์ 2 ข้อ) ตามแนวทาง Three Red Lines ซึ่งธนาคารกลางจีนแนะให้ควบคุม 3 อัตราส่วนทางการเงินประกอบด้วย “หนี้สินต่อสินทรัพย์” (ไม่รวมเงินรับล่วงหน้า) ไม่เกิน 70% “หนี้ต่อทุน” ไม่เกิน 100% และ “เงินสดต่อหนี้ระยะสั้น” ไม่ต่ำกว่า 1.0

ความเห็นของนักกลยุทธ์ KTAM

ตลาดบอนด์เปรียบเสมือน “กระดูกสันหลัง” ของระบบเศรษฐกิจ
จึงมิอาจปล่อยให้ “แช่แข็ง” นานจนกระทั่งบริษัทดีๆรีไฟแนนซ์ไม่ได้ ผู้ลงทุนควรตอบคำถามสำคัญ 2 ข้อให้ได้ก่อนตัดสินใจดังนี้ 1. รัฐบาลจีนต้องการให้เศรษฐกิจของตนเองพังพินาศใช่หรือไม่? และ 2. ผู้กำหนดนโยบายมีเครื่องมือ/ความสามารถพอที่จะคลี่คลายสถานการณ์ใช่หรือไม่?

หากข้อแรกตอบว่า “ไม่” และข้อสองคือ “ใช่” (เรามั่นใจเช่นนั้น) ณ ระดับราคาปัจจุบัน (ราคาต่ำ – ยีลด์สูง) ก็น่าสนใจอย่างยิ่งในการเข้าซื้อสะสม KT-CHINABOND เพื่อรับยีลด์ที่สูงกว่าปกติ ตลอดจนโอกาสฟื้นตัวของราคาในอนาคต

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน