HoonSmart.com>>บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTSG) ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหุ้น “ซุปเปอร์โฮลดิ้งส์” ที่มีความแข็งแกร่งมาก เห็นได้ชัดเจนในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลกในปี 2563-2564 เศรษฐกิจไทยหดตัวลงแรงถึง- 6.1% ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจหลายแห่งซวนเซ แต่บีทีเอสฯ กลับขยายการลงทุนมากมาย เพราะมองเห็นโอกาสในการนำเงินไปขยายธุรกิจใหม่ ๆ และซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีหลายแห่ง นอกจากเพื่อเก็บเกี่ยวผลตอบแทนในระยะยาวแล้ว ยังสามารถต่อยอดธุรกิจให้กลุ่มเติบโตได้รวดเร็วและมั่งคงยิ่งขึ้น
บีทีเอสทำได้อย่างไร?
นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ ซึ่งเป็นบิดา เรียนรู้จากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และนำมาใช้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 เรื่อง “Cash is King” คือ การเก็บเงินสดไว้เพื่อการลงทุน และการเดินหน้าตามโมเดลธุรกิจ 3M คือ MOVE, MIX, MATCH
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจ MIX ที่นำทัพโดยบริษัทวีจีไอ จํากัด (มหาชน) (VGI) ซึ่งมีเป้าหมายก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ให้บริการ O2O “การผสานธุรกิจจากออนไลน์ไปยังออฟไลน์” โซลูชั่นส์ครบวงจรที่ครอบคลุมธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการชำระเงินและธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงการผสมผสานข้อมูลด้านการเดินทางจากธุรกิจ MOVE และข้อมูลที่ได้รับจากการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจผ่านธุรกิจ MATCH เกิดเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งสามารถนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์เหล่านั้นมาต่อยอดทางธุรกิจ เพิ่มความพึ่งพอใจให้กับผู้ใช้บริการ และสามารถก้าวข้ามทุกอุปสรรคไปได้อย่างมั่นคง
บีทีเอส กรุ๊ปฯ มีจุดแข็งที่ใครจะลอกเลียนแบบยาก คือการมีพันธมิตรหลากหลายวงการ สามารถสร้างเป็นเครือข่ายได้กว้างขวาง เพื่อต่อยอดธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของทุกคน
บริษัท MOVE เริ่มจากธุรกิจหลัก รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าสีต่างๆ ตามด้วย MIX ธุรกิจสื่อโฆษณาครบวงจร บริการชำระเงิน โลจิสติกส์ ดาต้า และ MATCH ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาหาร และการลงทุน
เริ่มธุรกิจใหม่ “ท่าอากาศยาน”
บีทีเอส กรุ๊ปฯ เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่เพียงธุรกิจรถไฟฟ้าเท่านั้น ยังรุกออกไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรในโครงการมอเตอร์เวย์ โครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก สร้างรายได้และกำไรที่มั่นคงตามอายุสัมปทาน
“กิจการร่วมค้า บีบีเอส ที่ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BA) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 45%, 35% และ 20% ตามลำดับ ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งมีเวลาในการพัฒนาและอายุสัมปทานรวม 50 ปี โดยบีทีเอสกรุ๊ปฯ ต้องใช้เงินลงทุนในเฟสแรก ประมาณ 3,150 ล้านบาท” บริษัทแจ้งตลาดหลักทรัพย์
สูตรผสมธุรกิจชั้นเยี่ยม
ส่วน MIX มีการผสมผสานธุรกิจชั้นเยี่ยม อาทิ สื่อโฆษณาครบวงจร จากการถือหุ้นบริษัทวีจีไอ (VGI) มากกว่า 51% ขยายเข้าไปใน บริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) (MACO) และบริษัท แพลน บี มีเดีย จํากัด (มหาชน) (PLANB) รวมถึงหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ในสื่อออนไลน์-ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ลงทุนใน Rabbit Group ธุรกิจชำระเงินผ่านบัตรแรบบิท แรบบิทไลน์เพย์ ต่อยอดธุรกิจโลจิสติกส์ผ่านการลงทุน บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KEX) มีการบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างรายได้โฆษณาผ่านตัวรถที่วิ่งให้บริการไปทั่วประเทศไทย
บีทีเอส กรุ๊ปฯ ยังบริหารเงินสดที่เข้ามาในแต่ละวันอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากหมุนเงินปล่อยกู้ภายในกลุ่มแล้ว ยังมีการลงทุนในหุ้นชั้นดี โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นเผชิญวิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาด ดัชนีไหลลงอย่างรวดเร็ว และบริษัทต่างๆ วิ่งหาสภาพคล่อง จึงเป็นโอกาสในการซื้อหุ้น ราคาเหมาะสม สร้างผลตอบแทนสูงตัวไหนราคาปรับตัวขึ้นแรง ก็ขายทำกำไร เพื่อหาโอกาสใหม่ ๆ ได้ อาทิ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) (COM7) ในปี 2563 บริษัทซื้อจำนวน 59 ล้านหุ้น หรือ 4.9% ของทุนเรียกชำระแล้ว ในราคาเฉลี่ย 21.43 บาท/หุ้น แต่เมื่อราคาหุ้นพุ่งขึ้นมา 2-3 เท่า จึงไม่ปรากฎชื่อ BTS ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นใหญ่
บริษัทฯ ยังมีหุ้นในพอร์ตอีกหลายบริษัท พร้อมต่อยอดธุรกิจกับบริษัทในเครือ อาทิ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จํากัด (มหาชน) (AEONT) บริษัท ฮิวแมนิกา จำกัด (มหาชน) (HUMAN) ร่วมลงทุนกับ KEX ใน”แรบบิท แคช” รุกให้บริการสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล 100% พิจารณาอนุมัติและรับเงินไม่เกิน 3 นาที ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ต้องการความง่าย สะดวก และรวดเร็ว คาดว่าในปี 2565 จะปล่อยสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 – 3,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านบาทในปี 2566
U เปลี่ยนธุรกิจ พลิกกำไร
บีทีเอส กรุ๊ปฯ รับผลกระทบการขาดทุนของ บริษัทยูซิตี้ จํากัด (มหาชน) (U) มานาน และมองเห็นอนาคตที่มีโควิด – 19 อยู่กับชีวิตประจำวัน หมดยุคทองของธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์มาแล้ว ถือโอกาสขายทิ้ง ล้างไพ่ใหม่ โดยเพิ่มทุนครั้งใหญ่ เปลี่ยนมาทำธุรกิจการเงินและการลงทุน สามารถเพิ่มกำไรได้ดีกว่า แต่จะต้องหาพันธมิตรชั้นยอด ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับวงการธุรกิจ หลังจากประกาศให้บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ซื้อหุ้นของกลุ่มเจมาร์ท (JMART) จำนวน 24.9% และ U ซื้อหุ้น บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER) สัดส่วน 24.9% ได้หุ้นบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค (JMT) ด้วยจากการถือหุ้นใหญ่ของเจมาร์ท และได้เจฟินคอยน์ ทำให้กลุ่มบริษัทบีทีเอส ได้นวัตกรรมทางการเงิน และตลาดที่ใหญ่โตมาก
“ดีลนี้ผมใช้เวลาเพียง 3 วัน เนื่องจากเป็นเพื่อนกับคุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ผู้ถือหุ้นใหญ่ JMART ซูเปอร์ดีลครั้งนี้ เป็นดีลที่ผม แฮปปี้ แฟร์ ทุกคนดีหมด ผู้ถือหุ้นของ 6 บริษัท แฮปปี้หมด ต่างคนต่างได้ สิ่งที่ได้ เช่น เจมาร์ท ได้ทุนจากการเพิ่มทุน U, BTS ต้องการมีเพื่อน มีพันธมิตร หวังว่าเจมาร์ท และซิงเกอร์ จะพาบัตรแรบบิท (Rabbit) ไปต่างจังหวัด รวมเพื่อนไปด้วยกัน” คุณกวิน ให้สัมภาษณ์ www.HoonSmart.com
นอกจากนี้ U กำลังดำเนินการขายโรงแรมในยุโรป รอธุรกิจฟื้นและดูผลการลงทุนในกลุ่มเจมาร์ท รวมทั้งมีดีลที่กำลังเกิดขึ้นต่อไป พร้อมลงทุนในธุรกิจเพื่อสุขภาพ สิ่งที่ผมอยากเห็น U คือ พี/อี เท่าตลาด 20-30 เท่า
ที่ผ่านมาบีทีเอส กรุ๊ปฯ เติบโตรวดเร็วมาก จะยิ่งไปเร็วยิ่งขึ้น เมื่อมีดิจิทัล และนวัตกรรมทางการเงินเข้ามาช่วย แถมยังมีลูกเล่นใหม่ๆ มาดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการทั้งในและต่างประเทศ มีโอกาสสร้างรายได้และกำไรโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะธุรกิจใน MIX ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงประมาณ 30-40% แม้ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ไม่ถึง 10% แต่ในอนาคตจะเติบโตขึ้น ซึ่งเมื่อรวมรายได้ของ MATCH คาดว่าจะสามารถสร้างกำไรในสัดส่วนถึง 50% ให้กับกลุ่ม ใกล้เคียงกับธุรกิจ MOVE ที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น และตั้งเป้าว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารแตะ 3 ล้านคน/วันในปี 2568 พุ่ง 3 เท่า เมื่อเทียบกับยอดผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าก่อนช่วงโควิด – 19 ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ย 8 แสนคน/วัน
ยั่งยืนผงาดติดอันดับโลก
บีทีเอส กรุ๊ปฯ ไม่ได้มุ่งเน้นเพิ่มกำไรเท่านั้น ยังคงมุ่งมั่นผลักดันธุรกิจเติบโตยั่งยืน บีทีเอส กรุ๊ปฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ในปี 2020 ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของ DJSI (DJSI INDUSTRY LEADER) เป็นบริษัทเดียวที่ได้รับรางวัล GOLD CLASS HONOUR
นอกจากนี้ยังติดอันดับ”หุ้นยั่งยืน”ของประเทศไทย และได้ผลประเมินระดับ “5 ดาว” หรือ “ยอดเยี่ยม” ด้านธรรมาภิบาลอีกด้วย
บีทีเอสเป็นบริษัทในกลุ่มขนส่งทางรางแห่งแรกและแห่งเดียว ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นบริษัทที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และเมื่อปี 2563 ประสบความสำเร็จในการออก และเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คร้ังที่1/2563 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 8,600 ล้านบาท รวม 5 ชุด อายุ 2-10 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.10-3.41% ต่อปี เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่ เพื่อลงทุนและใช้ชำระคืนหนี้คงค้างจากการลงทุน ในโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู และโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง ภายใต้กรอบหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ตามมาตรฐานอาเซียน
แจกปันผลดี
BTS ติดอันดับ”หุ้นปันผลสูง” ตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้อัตราผลตอบแทนประมาณ 3-4% ต่อปี ไม่รวมการแจกใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นหรือวอร์แรนต์ให้แก่ผู้ถือหุ้นฟรีอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันออกมาแล้ว 8 รุ่น (BTS W1-W8)
บล.หยวนต้าเชียร์ เป้า 10.90 บาท
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์วันที่ 17 ส.ค.2564 แนะนำ”ซื้อ” BTS หลังผลงานไตรมาส 1 ปี 2564/2565 โดดเด่น มีกำไรปกติที่ 1,020 ล้านบาท เติบโตทั้งไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน เท่ากับ 111.5% และ 121.1% ตามลำดับ คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป โดยคงประมาณการกำไรปกติปี 2565 ที่ 4,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% และปี 2566 ที่ 4,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% ให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2564 ที่ 10.90 บาท แม้สถานการณ์โควิดระลอก 3 จะกดดันหุ้นระยะสั้น แต่ราคาปรับตัวลงมาราว 10% ตั้งแต่ช่วงเดือนมิ.ย.2564 ถึงปัจจุบัน คาดสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว การกระจายวัคซีนในช่วงปี 2564/2565 จะเป็นประเด็นหลักหนุนการฟื้นตัวของทั้งธุรกิจหลักและส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจร่วมค้า คาดพลิกกลับเป็นกำไรในช่วงงบประมาณปี 2565 (เม.ย.64-มี.ค.65)
ทั้งนี้ยังไม่รวมความสำเร็จในการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวหลัก (สายสุขุมวิท-สายสีลม) ซึ่งจะส่งผลบวกต่อราคาหุ้นอย่างน้อย 1.20 บาท และการประมูลสายสีต่างๆ
แนวโน้มผลการดำเนินงานของบีทีเอส กรุ๊ปฯ จะดียิ่งขึ้น หลังจากเปิดประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น เงินลงทุนต่าง ๆ เริ่มส่งผลตอบแทนกลับมา เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และกำไรสูงๆ ส่งสัญญาณบวกต่อราคาหุ้นในกลุ่ม รวมถึงเงินปันผลที่ดีขึ้น เป็นโอกาสดีในการเลือกซื้อเลือกหาเพื่อลงทุนระยะยาว