บอร์ดสายการบินนกแอร์ ตั้ง”ประเวช องอาจสิทธิกุล”รักษาการซีอีโอแทน”ปิยะ ยอดมณี”ลั่นธุรกิจยังมีแสงสว่าง ผู้ถือหุ้นใหญ่”จุฬางกรู-การบินไทย”หนุน รวมพลัง THAI-ไทยสมายล์-นกแอร์ แหล่งข่าวเผยปัญหาขาดสภาพคล่องมีทางออก “จุฬางกรู”ยินดีให้เงินกู้เพิ่ม หลังจากให้ยืมล็อตแรก 500 ล้านบาท บริษัทจัดโปรโมชั่นตั๋วราคาพิเศษ เจาะลูกค้าบินบ่อย
นายชัยรัตน์ แสงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่สายสนับสนุน บริษัท สายการบินนกแอร์(NOK) ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวาระพิเศษ ครั้งที่ 4/2561 มีมติอนุมัติตามความประสงค์ของนายปิยะ ยอดมณี ที่ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการชุดย่อยของบริษัททุกคณะ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2561 เป็นต้นไป
ทั้งนี้บริษัทได้แต่งตั้งนายประเวช องอาจสิทธิกุล กรรมการบริษัท เข้าดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทนนายปิยะ ยอดมณี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค. 2561 เป็นต้นไป ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการสรรหากรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
นายประเวช องอาจสิทธิกุล ประธานกรรมการบริหาร รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) กล่าวกับ www.hoonsmart.com ว่า สาเหตุที่นายปิยะลาออกในครั้งนี้ ไม่มีปัญหาอะไร คงเป็นเพราะอยู่ในธุรกิจการบินมานาน เป็นคนที่เข้ามาร่วมก่อตั้งบริษัทสายการบินนกแอร์กับนายพาที สารสิน และเมื่อนายพาที ลาออกไปเกือบ 1 ปี ก็เข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่แทน ซึ่งการแก้ปัญหาและการดำเนินงานของนกแอร์ที่ผ่านมา ดีขึ้นมาก และสายการบินนกแอร์ ยังได้รับรางวัลจาก ‘สกายแทร็กซ์’ หน่วยงานวิจัยบริการการบินชั้นนำของอังกฤษอีกด้วย
รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า บริษัทสายการบินนกแอร์ยังมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ จากยอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยปีละ 30 ล้านคน และคนไทยมีการย้ายถิ่นฐาน ย้ายที่ทำงาน มีการเดินทางภายในประเทศบ่อยขึ้น เชื่อว่าธุรกิจการบินยังสามารถเติบโตได้ หากปรับเปลี่ยนเส้นทางบิน มีการดูแลเรื่องความปลอดภัย ปรับปรุงการให้บริการที่ดีขึ้น และกำหนดราคาตั๋วที่เหมาะสม
ขณะเดียวกันการทำงานของบอร์ดบริษัท การบินไทย บริษัท ไทยสมายล์ และบริษัท สายการบินนกแอร์ดีขึ้น มีมุมมองในการเสริมธุรกิจกันมากกว่าที่จะแข่งขันกัน
“นกแอร์ เป็นสายการบินราคาประหยัดหรือโลว์คอสต์ของไทยเพียงแห่งเดียว ซึ่งธุรกิจเคยหอมหวาน จนเมื่อเปิดเสรีการบินมากขึ้น ทำให้การแข่งขันรุนแรง ขณะที่ค่าใช้จ่าย รวมถึงราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้สายการบินต่างๆประสบปัญหาการขาดทุน ทุกวันนี้สายการบินนกแอร์ได้พยายามแก้ปัญหาต่างๆ เรื่องดีเลย์ ก็ดีขึ้น รวมถึงความร่วมมือในการส่งผู้โดยสารของสายการบินนกสกู๊ตที่บินระหว่างประเทศมาให้นกแอร์ พร้อมปรับปรุงการบริการ เชื่อว่าธุรกิจยังสามารถเติบโตต่อไปได้”นายประเวชกล่าว
แหล่งข่าวจากบริษัทสายการบินนกแอร์ กล่าวว่า ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการขาดสภาพคล่องของนกแอร์นั้น ทางผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กลุ่มจุฬางกรู และบริษัทการบินไทยยังคงให้การสนับสนุนที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มจุฬางกรูยินดีจะให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม หลังจากให้บริษัทฯกู้ยืมเงินจำนวน 500 ล้านบาทแล้ว เพียงขอให้บริษัทมีการบริการจัดการที่ดีที่สุด เพราะยังคงมั่นใจว่า บริษัทนกแอร์ยังสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันบริษัทก็พยายามเพิ่มสภาพคล่องจากการดำเนินงาน โดยวางแผนที่จะจัดโปรโมชั่น “ซันเดอร์ เบิร์ด” เสนอขายตั๋วราคาถูกล่วงหน้า ให้แก่ผู้โดยสารที่ใช้บริการบ่อย คาดว่าจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดเข้าบริษัท
ก่อนหน้านี้ นายปิยะ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวาระพิเศษอนุมัติการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำนวน 490 ล้านบาท ผ่านบริษัท นกมั่งคั่ง ซึ่งแหล่งเงินมาจากเงินกู้ยืมจากนางหทัยรัตน์ จุฬางกูร จำนวน 500 ล้านบาท โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน(พี/เอ็น) ที่มีอายุคราวละไม่เกิน 180 วัน อัตราดอกเบี้ย 6.00 % ต่อปี ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 12 เดือน
ปัจจุบันบริษัทสายการบินนกแอร์ ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นเครื่องหมาย C เนื่องจากมีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว ซึ่งบริษัทจะต้องเร่งแก้ไข โดยนายปิยะเปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารเตรียมนำเสนอแผนธุรกิจระยะยาวที่จะทำให้บริษัทพลิกฟื้นกลับมาเติบโตในระยะยาวให้กับคณะกรรมการบริษัทในเดือน ก.ย.นี้ บริษัทมีสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะงบเดี่ยว มีผลขาดทุนสุทธิ 774 ล้านบาท ลดลงจากที่ขาดทุนสุทธิ 909 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในปี 2561 บริษัทตั้งเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเป็น 10 ล้านคน จากปีก่อนมีจำนวนผู้โดยสาร 8.78 ล้านคน โดยช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวนผู้โดยสาร 4.72 ล้านคน เติบโต 7.2% ด้านอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ตั้งเป้าเฉลี่ยอยู่ที่ 92% จากงวดครึ่งปีแรกเฉลี่ยที่ 91.22% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ย 84.81% ซึ่ง Cabin Factor แตะระดับ 90% ถือเป็น High record ตั้งแต่นกแอร์ก่อตั้งมา ยังไม่เคยทำได้ระดับ 90%
นอกจากนี้ อัตราการใช้เครื่องบินก็ดีขึ้นเป็น 9.76 ชั่วโมง (ชม.)/ลำ/วัน จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 7.89 ชม./ลำ/วัน และในปีนี้ตั้งเป้าหมายที่ 11 ชม./ลำ/วัน แต่รายได้ผู้โดยสารต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตร อยู่ที่ 1.91% ลดลงจากระดับ 1.96% ในงวดเดียวกันของปีก่อน เพราะมีการแข่งขันราคากันสูงมาก