HoonSmart.com>> “ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์” มั่นใจปี 65 กำไรกลับมาโต หลังจากปีนี้ต้องช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจาก 4.8 พันล้านบาทแตะ 5 พันล้านบาท รับรู้การลงทุนที่ปากีสถาน-อินโดนีเซียเต็มปี ร่วม 700 ล้านบาท นำเงิน IPO เพิ่มกำลังการผลิตที่อินโดฯอีก 3.6 หมื่นตันต่อปี หนุนปี 69 รายได้ต่างประเทศแตะ 1.5 พันล้านบาท รายได้รวมทะยาน 8,000 ล้านบาท เล็งซื้อกิจการ D/E เหลือ 0.3 เท่า บล.ฟินันเซีย ไซรัส ชี้ราคาเป้าหมายปีหน้า 17 บาท คาดกำไรสุทธิพุ่งดว่าเท่าตัวแตะ 472 ล้านบาท และ 577 ล้านบาท ปี 66
บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 29 ต.ค.2564 ราคาเปิดที่ 15.70 บาท เพิ่มขึ้น 2.20 บาท คิดเป็น 16.3% เทียบกับราคาเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก(IPO)ที่ 13.50 บาท ระหว่างวันขึ้นไปสูงสุดที่ 16.80 บาท และลดลงต่ำสุดแตะ 15 บาท ก่อนปิดที่ระดับ 14.50 บาท บวก 1 บาท คิดเป็น +7.41% ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากถึง 4,565.61 ล้านบาท
นายบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) กล่าวว่า ขอขอบคุณนักลงทุนที่ไว้ใจและเชื่อมั่นในตัว TFM อยากให้นักลงทุนมองว่า TFM เป็นหุ้นพื้นฐานดี ที่มีกำไรทุกปี ถึงแม้ปีนี้กำไรจะลดลงบ้าง จากที่ช่วยเหลือเกษตรกร แต่อยากให้มั่นใจว่าปี 2565 จะกลับมาเติบโตขึ้นแน่นอน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งบริษัทมีการจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นปี 2 ครั้ง รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ
ในปี 2564 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวมประมาณ 4,800 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 4,244.5 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และธุรกิจในปากีสถานเติบโตต่อเนื่อง โดยเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 2/2564
นอกจากนี้การเปิดประเทศ และเริ่มทยอยคลายล็อกดาวน์ ส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ความต้องการกุ้ง ปลา และสัตว์อื่นๆ ก็มีการเติบโตที่ดีขึ้น ทำให้เกษตรกรกลับมาเริ่มเลี้ยงปลาและกุ้งมากขึ้น ยอดขายของบริษัทก็ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2/2565 จะเป็นฤดูกาลที่มีการเลี้ยงมากที่สุด แต่ต้นทุนที่ปรับตัวขึ้นในช่วงนี้ บริษัทคาดว่าจะราคาจะกลับสู่สมดุลในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หลังจากโควิด-19 เริ่มคลายลงไป จะส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิของบริษัทดีขึ้น ประกอบการบริษัทก็มุ่งเน้นขายสินค้าที่มีอัตรากำไรดีด้วย
ขณะที่ในปี 2565 บริษัทคาดว่ารายได้รวมอยู่ที่ระดับ 5,000 ล้านบาท โดยการเติบโตมาจากการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ธุรกิจในปากีสถานที่มีการเติบโตต่อเนื่อง และรับรู้รายได้เต็มปีของธุรกิจที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่ารายได้รวมจากต่างประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านบาท
ขณะเดียวกันหลังจากที่บริษัทใช้เงินระดมทุน IPO ส่วนหนึ่งไม่เกิน 250 ล้านบาท เพื่อไปลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตอีก 36,000 ตันต่อปี ที่ประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 36,000 ตันต่อปี ส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศใน 5 ปีข้างหน้า (2569) เพิ่มขึ้นเป็น 20-25% หรืออยู่ที่ 1,500 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3% หรือ 100 ล้านบาท ส่วนในประเทศยอดขายก็ดีขึ้นต่อเนื่อง คาดว่ารายได้รวมในปี 2569 จะอยู่ที่ระดับ 8,000 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสซื้อกิจการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำมาต่อยอดกลยุทธ์ร่วมกันในอนาคต
ส่วนการนำเงินไปคืนเงินกู้สถาบันการเงินประมาณ 250-350 ล้านบาท ลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เหลือเพียง 0.3 เท่า จากปัจจุบันไม่เกิน 1 เท่า โดยบริษัทมีแผนจะควบคุมให้ไม่เกิน 1 เท่า และนำไปเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ มีการลงทุนเพื่อปรับปรุงสายการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร และพัฒนาระบบไอที อยู่อย่างต่อเนื่อง
ด้านนายพิเชษฐ สิทธิอํานวย กรรมการผู้อํานวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า ราคาหุ้น TFM เปิดซื้อขายวันแรกอยู่ที่ 15.70 บาท เพิ่มขึ้น 16.30% สะท้อนจากการที่ TFM อยู่ในสถานะที่มีความพร้อมสำหรับโอกาสในการเติบโตทั้งตลาดในประเทศ ผ่านการขยายธุรกิจอาหารสัตว์น้ำและอาหารสัตว์ประเภทอื่นๆ และตลาดต่างประเทศผ่านแนวทางต่างๆ เช่น การเข้าทำสัญญาความร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่น หรือการตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ทั้งนี้ TFM ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยเป็นอย่างมาก และมั่นใจว่า TFM จะเป็นหุ้นน้องใหม่ที่มีคุณภาพ และได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมจากนักลงทุนในระยะยาว
บล.ฟินันเซียไซรัส ให้ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 17 บาท หลังจากกำไรสุทธิปีนี้อยู่ที่ 225 ล้านบาท ลดลง 45.5% ผ่านจุดต่ำสุด ส่วนปีหน้าพุ่งขึ้น 109.9%เป็น 472 ล้านบาท และเติบโต 22.2%เป็น 577 ล้านบาทในปี 2566 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ช่วยหนุนความต้องการใช้อาหารสัตว์กลับมาฟื้นตัว และ
ราคาวัตถุดิบอย่าง กากถั่วเหลือง และแป้งสาลีจะผ่านจุดสูงสุดในปี 2564 และที่สำคัญบริษัทเริ่มรับรู้รายได้อาหารปลาในปากีสถาน (กำลังการผลิต 7,000 ตันต่อปี)
จะรับรู้เต็มปีในปี 2565 ส่วนโรงงานอาหารกุ้งในอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 36,000 ตันต่อปี คาดจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 นี้เป็นต้นไป
TFM เป็นผู้นำอาหารสัตว์เลี้ยงน้ำในไทย มีจุดแข็งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกว่า 20 ปี และยังมี TU เป็นบริษัทแม่ ทำให้มีความพร้อมในทุกด้าน สามารถสร้าง
ความได้เปรียบด้วยคุณภาพและความแตกต่างของสินค้า โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 24% ในอาหารปลากะพง และ 17% ในอาหารกุ้ง อาหารปลา 12% และเริ่มขยายธุรกิจอาหารสัตว์น้ำในอินโดนีเซีย และปากีสถาน ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมในประเทศนั้นๆ บริษัทได้เข้าถือหุ้น 65% และ 51% ในบริษัทร่วมทุนในอินโดนีเซียและปากีสถาน ตามลำดับ
“เราให้ราคาเป้าหมาย TFM ที่ 17 บาท อิง P/E 17.5 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของบริษัทในภูมิภาค เพราะอยู่ในธุรกิจเดียวกัน มีอัตรากำไรใกล้เคียงกัน และยังอยู่ระหว่างขยายไปในอินโดนีเซีย แม้เป็น P/E ที่สูงกว่าบริษัทในไทย แต่มองว่าเหมาะสมเพราะ TFM มีธุรกิจอาหารสัตว์เศรษฐกิจอย่างเดียว จึงมีความผันผวนของกำไรต่ำกว่า CPF, TFG ,GFPT ที่มีธุรกิจเลี้ยงสัตว์”บล.ฟินันเซีย ไซรัสระบุ