SCBT มองเงินบาทแข็งค่าสิ้นปี 64 แตะ 32.50 บาท กลางปีหน้า 31-32 บาท/ดอลล์

HoonSmart.com>>นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เชื่อเงินบาทแข็งค่าหลังการเปิดประเทศ 1พ.ย. สิ้นปี 64 แตะ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และกลางปี 65 อยู่ที่ 31-32 บาท ไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ด้านเศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 3% จับตาการดำเนินนโยบายทางการเงินท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อ

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (SCBT) คาดว่าค่าเงินบาทจากนี้ถึงกลางปี 2565 จะอยู่ที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าขึ้นจาก ปัจจัยการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การแข็งค่าของเงินบาทยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากเงินบาทยังอยู่ไม่แข็งค่าทะลุ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านเศรษฐกิจไทยไทยปีนี้น่าจะไม่ขยายตัวหรือโต 0% เนื่องจากการระบาดที่ยืดเยื้อของโควิด 19 ส่วน ปี2565 คาดโต 3% เนื่องจากการส่งออกที่เติบโตได้ดี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และได้ผลดีจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.2564 และการบริโภคที่ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่วนปี 2565 คาดเศรษฐกิจจะเติบโตที่ 3 %

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาปีหน้า คือ นโยบายทางการเงินในประเทศ ซึ่งคาดว่าธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% ต่อไปตลอดทั้งปีหน้า แต่อาจได้แรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น เงินเฟ้อต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ธนาคารหลายประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เกิดความผันผวนในภาคการเงิน ขณะที่ปัจจัยในประเทศต้องติดตามสถานการณ์การเมือง การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

ส่วนนโยบายการคลังยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่โครงการการลงทุนต่างๆ น่าจะกลับมาเดินหน้าต่อ ซึ่งมีโอกาสต่อยอดการเติบโตของเศรษฐกิจได้มากขึ้น

นอกจากนี้ มีความท้าทายเชิงโครงสร้าง โดยรัฐบาลจะดึงดูดภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศให้ลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นได้อย่างไร และการแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อย่างชัดเจน

“เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในระหว่างฟื้นตัวคาดว่าปี 2565 เศรษฐกิจจะโต 3% ดีกว่าปี 2564 แต่สิ่งที่น่าติดตามคือ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เข้มแข็งเพียงใด ท่ามกลางความผันผวนของค่าเงินและเงินเฟ้อ ที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงิน” ดร.ทิม