HoonSmart.com>> “เงินติดล้อ” ย้ำธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบ หลัง สคบ.เตรียมควบคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร กำหนดเพดานดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 15% ต่อปี ชี้มีสินเชื่อปล่อยใหม่ลูกค้ากลุ่มเช่าซื้อไม่เกิน 0.5% ของพอร์ตสินเชื่อปล่อยใหม่รายเดือนเท่านั้น ด้านผลประกอบการไตรมาส 3 ยังแข็งแกร่ง มั่นใจทั้งปีตามเป้า
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ (TIDLOR) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา โดยจะควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ระบุในสัญญาได้ไม่เกิน 15% ต่อปี และห้ามเก็บหนี้ส่วนที่เหลือในกรณีที่ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบรถ (คืนรถจบหนี้) นั้น กรณีดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ ทั้งในด้านผลการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทฯ มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อปล่อยใหม่ในกลุ่มรถยนต์ จักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตรเพียงเล็กน้อย คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 0.5% ของพอร์ตสินเชื่อปล่อยใหม่รายเดือนเท่านั้น
ทั้งนี้ ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมายังอยู่ในช่วงชะลอตัว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และภาคธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่าความต้องการด้านสินเชื่อและการซื้อประกันภัยปรับตัวดีขึ้นเข้าใกล้ระดับปกติหลังจากรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ในส่วนของภาพรวมการดำเนินงานของบริษัทฯ ไตรมาส 3 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ จากรายได้รวมที่ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะต้นทุนทางการเงินที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทฯ เป็นระดับ A จากเดิมที่ระดับ A- ด้วยแนวโน้มคงที่หรือ Stable
ขณะที่ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังจากที่รัฐบาลประกาศพิจารณาผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รวมถึงการเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสภาพคล่องเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือรองรับการลงทุนเพื่อรับโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบอาชีพค้าขายและผู้ประกอบการรายย่อย
ส่วนธุรกิจนายหน้าประกันภัยมีแนวโน้มที่ดี หลังจากเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ออกผลิตภัณฑ์ผ่อนประกันรถยนต์ 0% เป็นระยะเวลาสูงสุด 10 เดือนขยายจากเดิม 6 เดือน เพื่อช่วยลูกค้าลดภาระและสำรองเงินเพื่อการใช้จ่ายหรือรองรับการดำเนินธุรกิจ ถือว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีลูกค้าสนใจซื้อประกันภัยรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดียิ่งขึ้นจากการที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศและเตรียมผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ และสนับสนุนให้เกิดความต้องการใช้รถในการเดินทางและประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อความต้องการซื้อประกันภัย
“ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายสาขาในทำเลที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง นอกจากการใช้จุดแข็งด้านเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มศักยภาพด้านการให้บริการและเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้า คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเปิดสาขาใหม่รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 200 สาขา และมีสาขาทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1,300 สาขา หลังจากในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมาเปิดไปแล้ว 184 สาขา และมีสาขาทั่วประเทศอยู่ที่ 1,260 สาขา” นายปิยะศักดิ์ กล่าว